นักวิชาการเตือน "ม็อบสุภัทร" ระวังการเคลื่อนไหว หวั่นตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง ที่ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ทั้งปกป้องกลุ่มทุน ทำลายพรรคการเมืองคู่แข่ง
วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2566) รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านการโยกย้ายนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท จาก ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ไป รพ.สะบ้าย้อย จังหวัดเดียวกันว่า
หลักการนั้นกระทำได้ตามสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การเคลื่อนไหวกดดันนั้นต้องมีเหตุผล มีหลักฐานเพื่อชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมอย่างไรในการโยกย้าย การต่อสู้ต้องสู้ด้วยหลักการ ข้อมูล ระเบียบกฎหมายว่าด้วยการโยกย้ายของระบบราชการ อันนี้คือประเด็นหลักที่กลุ่มผู้คัดค้านต้องคำนึงถึงในการเคลื่อนไหว ต้องกลับมาอยู่จุดนี้ให้ได้
รศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่าที่ออกมาพูด ด้วยความเป็นห่วง เพราะปัจจุบัน การกดดันคัดค้านด้วยการระดมมวลชน เครือข่าย สร้างแนวร่วมการเคลื่อนไหวโดยละเลยประเด็นหัวใจปัญหาอาจถูกมองจากสังคมว่ามีวาระซ้อนเร้นได้ โดยเฉพาะยิ่งใกล้ห้วงเวลาการเลือกตั้งอาจถูกมองและลากโยงไปสู่ประเด็นการเมือง เพื่อใช้ประเด็นนี้ทำลายกันในทางการเมืองเพื่อสร้างคะแนนเสียงให้บางพรรค เพราะฉะนั้นกลุ่มคัดค้านการโยกย้ายการต่อต้านต้องประเมิน พิจารณาให้รอบคอบ จับประเด็นความขัดแย้งหลักรอง เพราะในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ของกลุ่มทุน นักการเมือง ไปจนถึงพรรคการเมือง
"ตอนนี้ ควรกลับมาอยู่ในเรื่องของการโยกย้าย ถ้าคิดว่า ผิด ต้องไปดำเนินการร้องเรียนให้ถูกต้อง แต่ในสถานการณ์การเคลื่อนไหวดูเหมือนจะมีความพยายามละเลยประเด็นนี้ไปแต่พุ่งเป้าไปใช้วิธีให้มวลชนกดดัน ไปที่พรรคการเมืองที่รับผิดชอบดูแลกระทรวงสาธารณสุข เพียงประเด็นเดียว"
รศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า ในประเด็นนี้ถ้ากลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านไม่พิจารณาอย่างรอบคอบอาจถูกสังคมอีกฝั่งมองว่าเป็นเรื่องการเมืองเพื่อทำลายพรรคการเมืองที่รับผิดชอบกระทรวงสาธารณสุขมากกว่าเรื่องธรรมาภิบาลการโยกย้าย และผู้ชุมนุมอาจตกเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองบางพรรคที่ต้องการหาแนวร่วมทำลายคะแนนนิยมทางการเมืองที่รับผิดชอบ สธ. อยู่แล้ว
"มีใครนั่งกินไวน์อยู่ในมุมมืด และใช้มวลชนที่ไม่พอใจไปกดดันโจมตีพรรคการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้ง เพื่อหวังทำลายคะแนนนิยมในพื้นที่ แบบยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว ได้ทั้งปกป้องทุน และทำลายพรรคคู่แข่ง และมวลชนก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง"