"สมศักดิ์" ยันรัฐบาลจริงจังแก้ปัญหายาเสพติด สร้างกฎหมายใหม่เน้นยึดทรัพย์ ให้รางวัล จนท.ลดการรับสินบนพ่อค้ายา เผยคดี “ตู้ห่าว” อายัดทรัพย์แล้ว 8,651 ล้านบาท พร้อมสร้างนิคมราชทัณฑ์ลดคนทำผิดซ้ำ เชื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 9,600 ล้านบาท โชว์ผลงานทำกฎหมายสำเร็จแล้ว 9 ฉบับ
เมื่อวันที่ 16 ก.พ.65 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลว่า รัฐบาลได้มีมาตรการป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจัง โดยยาเสพติด มีแหล่งผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเมื่อก่อนใช้พืชผลิต แต่วันนี้ใช้สารเคมีเป็นสารตั้งต้นและมีเทคโนโลยีการผลิตได้วันละหลายล้านเม็ด โดยรัฐบาลได้การควบคุมสารเคมีที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด คือ โซเดียมไซยาไนด์ โดยช่วงที่ผ่านมาเราจับกุมและยึดได้ 220 ตัน ที่ท่าเรือแหลมฉบัง
รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า วันนี้หากเรายังไปดูเรื่องการจับเม็ดยาอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะขณะนี้เรามีประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2564 ทำให้ยึดทรัพย์คนค้ายาย้อนหลังได้ 10 ปี และสามารถยึดทรัพย์สินทดแทนตามมูลค่าที่ค้ามาได้ด้วย โดยก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้ ตนคิดว่าเรายังใช้กฎหมายไม่เป็น จึงมีการตั้ง คณะพาลีปราบยา ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นโรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับการตรวจสอบเส้นทางการเงินของเครือข่ายเพื่อนำไปสู่การยึดทรัพย์ ซึ่งนอกจากจะยึดทรัพย์จากคดียาเสพติดได้แล้ว ยังมีในเรื่องของการพนันออนไลน์ด้วย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หากดูสถิติของการยึดทรัพย์ปี 2558 ยึดอายัดทรัพย์ได้ 956 ล้านบาท เข้ากองทุนยาเสพติดเพียง 30 ล้านบาท แต่ปี 2565 ที่เราเริ่มมีคณะพาลีปราบยาและกฎหมายใหม่ สามารถยึดอายัดทรัพย์ได้ 11,003 ล้านบาท เข้ากองทุนยาเสพติด 2,007 ล้านบาท และในปีนี้เราตั้งเป้ายึดอายัดทรัพย์ไว้ที่ 1 แสนล้านบาท ซึ่งในอดีตเราต้องดำเนินการถึง 8 ปีกว่าจะยึดทรัพย์ได้ แต่กฎหมายใหม่ใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี และแยกคดีอาญาออกจากคดีทรัพย์อีกด้วย นอกจากนี้เราต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะหากดูจากการแจ้งเบาะแสของประชาชน ที่ประเทศเรามี 80,000 หมู่บ้าน แต่มีคนแจ้งสายด่วน 16,000 สายเท่านั้น อาจจะเพราะคนกลัว เราจึงได้เปิดระบบ Bloickchain เพื่อป้องกันผู้แจ้งให้ปลอดภัยและจ่ายเงินรางวัลแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่เจ้าหน้าที่ที่ทำคดีจะได้รับรางวัล 25%ของมูลค่าทรัพย์ที่ยึดได้ ส่วนคนแจ้ง 5% ซึ่งจะทำให้ไม่มีการรับสินบนจากพ่อค้ายาอีกต่อไป โดยถ้าเราได้ใช้ข้อกฎหมาย เราจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของคดีกลุ่มทุนจีนสีเทา หรือคดีตู้ห่าวนั้น เรื่องคดีอาญาเป็นเรื่องของตำรวจ ส่วน ป.ป.ส.ดูเรื่องการอายัดทรัพย์สิน โดยขณะนี้เราสามารถยึดอายัดทรัพย์ไปแล้ว 8,651 ล้านบาท และกำลังขยายผลเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ก่อนตนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี มีผู้ต้องขังเกือบ 4 แสนคน ซึ่งกว่า 80% เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด คนที่พ้นโทษออกไปเมื่อไม่มีงานทำก็กลับไปขายยาและทำผิดอีก ทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก ตนจึงพยายามลดปัญหาด้วยการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขัง และสร้างงานสร้างอาชีพ โดยมีโครงการการตั้ง นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ 5 แห่ง 4 ภาค ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณในการสร้างเรือนจำ 40,000 ล้านบาท และจะทำให้มีเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 9,600 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ได้ผ่านที่ประชุม ครม.แล้ว ซึ่งในการดำเนินการเรื่องยาเสพติด เรามีทั้งมาตรการป้องกัน ปราบปราม ฟื้นฟู บำบัดรักษา บูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงาน และการดำเนินงานร่วมกันต่างประเทศ
นายสมศักดิ์ ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ในเรื่องความรุนแรงในสังคม เช่น เหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภู รัฐบาลได้มีการแก้ไขปัญหาอาวุธปืน กวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนและวัตถุระเบิด เพิ่มคุณสมบัติผู้ยื่นคำขออนุญาตทั้งก่อนออกและภายหลังออกใบอนุญาต เช่น ใบรับรองแพทย์หนังสือรับรองความประพฤติจากหน่วยงาน/นายจ้าง และจัดการอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มี โดยกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต และมีการร่าง พ.ร.บ.อาวุธปืนขึ้นใหม่ อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งการเสนอแก้ พ.ร.บ.เยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญา เพิ่มเงินให้สูงขึ้น จากเดิมจ่ายผู้เสียชีวิตจะได้ 110,000 บาท เป็น 225,000 บาท และการจัดทำ และพ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง (JSOC) เพื่อให้คนในสังคมปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กและสตรี
"ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมเราทำงานอย่างจริงจัง ได้เสนอแก้ไขกฎหมายไปแล้ว 13 ฉบับ ผลักดันกฎหมายจนสำเร็จแล้ว 9 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.พืชกระท่อม ประมวลกฎหมายยาเสพติด นอกจากนี้ยังได้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมปศุสัตว์ ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และร่างกฎหมายให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐจากความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบางประเกท (Law of Efficiency) ที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและยกร่าง เพื่อสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ โดยถอดแบบจากกฎหมายของสหรัฐ นำมาประยุกต์ให้เข้ากับบ้านเรา" นายสมศักดิ์ กล่าว.