xs
xsm
sm
md
lg

มท.รับทราบยอดหนี้ 10 ปี กองทุนฯสตรี ทะลุ 4.2 พัน ล.ค้างชำระ 1.2 พัน ล.ขีดเส้น! ผู้ว่าฯ แก้หนี้ให้เหลือร้อยละ 10 ก่อนสิ้นปีงบฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บิ๊กมหาดไทย รับทราบยอดหนี้ “10 ปีกองทุนพัฒนาสตรี” โยกจากสำนักนายกฯ มาสังกัดมหาดไทย พบสูงกว่า 4,259 ล้าน จากที่ปล่อยกู้ให้กับสมาชิกแค่ 15 ล้านคน กว่า 7 หมื่นองค์กรผู้หญิง สะสม 2556 - ปัจจุบัน กว่า 1.6 หมื่นล้าน เป็นหนี้เกินกำหนดชำระ 1.2 พันล้าน ขีดเส้น! สิ้นปีงบ 66 สั่งผู้ว่าฯ ร่วม พช.จังหวัด บริหารหนี้เกินกำหนดชำระให้ลดลงไม่เกิน ร้อยละ 10 หลังฝ่ายกฎหมาย มท. ชี้ช่องเร่งออกมาตรการ 5 ฉบับ เน้นบรรเทาลูกหนี้

วันนี้ (3 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการประชุมผู้บริหารเพื่อขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐบาล ของกระทรวงมหาดไทย

โดยเฉพาะประเด็นข้อสั่งการในการบริหารจัดการหนี้ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” (กพส.) ในสังกัด กรมพัฒนาชุมชน (พช.)

ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำกับติตตามการขับเคลื่อน “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” โดยให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการริหารกองทุนฯ ในระดับจังหวัด

“บริหารจัดการหนี้เกินกำหนดชำระกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของจังหวัด ให้ลดลงได้ไม่เกิน ร้อยละ 10 ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2566 หรือ วันสุดท้ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นี้”

ข้อมูลของ พช. (25 ม.ค. 2566 ) ระบุว่า กองทุนฯ มีสมาชิก 15.813 ล้านคน (คิดเป็น ร้อยละ 53.59 ของสตรีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ 30 ธ.ค.2565 จำนวน 28.331 ล้านคน)

มีองค์กรสมาชิก 75,801 องค์กร มีเงินอุดหนุน จำนวน 1,342,936,239 บาท ระหว่างปี 2560-2565 (ระยะ 5 ปี) ถึง 26,283 โครงการ

และมีเงินทุนหมุนเวียนในปีเดียวกัน 67,926 โครงการ วงเงิน 8,728,251,390 บาท

ขณะที่ข้อมูล 27 ม.ค. 2566 ระบุว่า การบริหารจัดการหนี้ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ปี 2556-2566

ซึ่งมีจำนวนเงิน ที่ พช.อนุมัติสะสม 16,521,494,667.69 บาท ได้รับชำระคืนสะสมแล้ว 12,314,648,314.93 บาท ล่าสุด มียอดหนี้ คงเหลือ 4,259,305,142.756 บาท

“พบว่า มีหนี้ที่เกินกำหนดชำระ 1,271,158,818.55 บาท เป็นหนี้ที่ กองทุนฯ สั่งดำเนินคดีแล้ว จำนวน 105,725,120.99 บาท”

ขณะที่ “หนี้ที่เกินกำหนดชำระ” เป็นหนี้กองทุนเดิม 404,300,151.17 บาท และหนี้กองทุนใหม่ 866,585,667.38 บาท

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ พช. ไม่มีการระบุถึงตัวเลขการวิเคราะห์ลูกหนี้ ในกรณีของการ “พักหนี้”

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย (มท.) คณะที่ 1 ได้รับข้อหารือกรณีการใช้อำนาจลดหรืองดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา หรืออัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย ของ กพส.

หลังจาก พช. พบว่า กพส. มีมูลค่าหนี้ ของหนี้ค้างชำระมีจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับยอดหนี้คงเหลือทั้งหมด

ทั้งนี้ เดิม กพส. ดำเนินการภายใต้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2555 ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ก่อนที่ปี 2558 จะโอนมาอยู่ในกำกับของ พช. โดยได้รับจัดสรรงบประมาณ ปี 2559 จำนวน 100 ล้านบาท และ พช.รับโอนเงินเป็นทุนหมุนเวียน สำหรับกู้ยืม

กรณีนี้ พช. หารือเรื่องนี้กับฝ่ายกฎหมาย มท.ว่า สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี (สกพส.) สามารถดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่ออกมาตรการในการบริหารจัดการหนี้ฯและให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ ได้หรือไม่

กรณี กพส. ได้ออกประกาศคณะกรรมการบริหารฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตรา ดอกเบี้ยผิดนัด รวม 4 ฉบับ รวมถึงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการพิจารณา ลดหรืองดเบี้ยปรับ/ดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญากู้ยืมเงินฯ จำนวน 1 ฉบับ

ขณะที่ สำนักกฎหมาย สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ เห็นพ้องกันว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ สามารถออกหลักเกณฑ์กำหนดให้มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้

ซึ่งรวมถึงการกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยผิดนัด กพส. รวมถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาลดหรืองดเบี้ยปรับ/ดอกเบี้ยผิดนัด ตามสัญญากู้ยืมเงินของ กพส.

กองทุนดังกล่าวเป็นทุนหมุนเวียนตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และตามมาตรา 21(1) แห่งพระราชบัญญัติ เดียวกัน กำหนดให้ กพส. มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับดูแล การบริหารจัดการ และติดตามการดำเนินงาน

ประกอบพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดให้เรียกเก็บหรือไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด จากเงินที่ให้กู้ยืม กพส. ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินย่อมมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ในการที่จะเรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ตามปกติธุระของการกู้ยืมเงิน

แต่การลด หรืองดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาดังกล่าว อาจกระทบต่อการดำเนินงานของ กพส. คณะกรรมการฯ จะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกองทุน เหตุผลและความจำเป็น ปัญหาในทางปฏิบัติ ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว

การไม่เลือกปฏิบัติ และผลกระทบประการอื่นที่จะได้รับจากการดำเนินการ ตลอดจนผลกระทบต่อผู้กู้รายอื่นอันที่จะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน

สำหรับในส่วนของการลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด เห็นควรกำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นประกอบข้อเท็จจริงของสมาชิกผู้กู้เป็นรายกรณีๆ ไป

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมิให้เกิดประเด็นข้อโต้แย้ง เรื่องหน้าที่และอำนาจ

พช. ควรพิจารณาแก้ไข เพิ่มเติมข้อบังคับคณะกรรมการบริหาร กพส. พ.ศ. 2559 เกี่ยวกับหน้าที่และ อำนาจของคณะกรรมการ

เพื่อให้มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาลด หรือ งดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวได้ เช่นเดียวกับระเบียบกรมการจัดหางาน ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2559


กำลังโหลดความคิดเห็น