โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ พร้อมส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสิ่งแวดล้อม ยินดีโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนผาจุก จ.อุตรดิตถ์ เปิดใช้งาน สนับสนุนโรงไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ ควบคู่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
วันนี้ (3 ก.พ.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นแนวทางในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญ ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนถือเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยล่าสุด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งนับเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนแห่งที่ 10 ของประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อน เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของ กฟผ. และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 3 ระยะ โดยเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ณ บริเวณท้ายเขื่อนของกรมชลประทานที่มีอยู่แล้ว และใช้การระบายน้ำเพื่อสร้างพลังน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า ก่อนระบายลงสู่ท้ายน้ำเพื่อใช้ประโยชน์หมุนเวียนต่อไป จึงไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบโรงไฟฟ้า
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนผาจุก เป็นระยะที่ 3 ของโครงการ และถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนแห่งที่ 10 ของประเทศ มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 14 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง (เครื่องละ 7 เมกะวัตต์) เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 91.26 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง สามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 45,000 ตัน/ปี เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าทั้งในเขตอำเภอและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งประชาชนในพื้นที่ยังคงได้รับน้ำเพื่อการชลประทานในปริมาณเท่าเดิมและยังสามารถหมุนเวียนใช้ในภาคการเกษตรได้อีกด้วย
“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด เป็นแนวทางสำคัญตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนสะท้อนผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และเป็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่พื้นที่ พร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนและทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งยังสามารถเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าคาร์บอนต่ำต่อยอดไปยังโครงการอื่นๆ ในอนาคตได้อีกด้วย” นายอนุชา กล่าว