ก.แรงงานออกหน่วยประชาสัมพันธ์ พบปะนายจ้าง – ต่างด้าว หนุนสถานประกอบการจ้างแรงงานถูกกฎหมาย ได้รับสิทธิความคุ้มครอง ภายใต้กรอบแนวคิด แรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2566 นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และคณะลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตตรวจเยี่ยมสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมออกหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ (Road Show) ของกระทรวงแรงงาน ตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจนโยบายการบริหารจัดการ การนำเข้า ป้องกันและคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าวของกระทรวงแรงงานและรัฐบาล เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องสิทธิของแรงงานต่างด้าว ภายใต้กรอบแนวคิด “แรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม” ส่งเสริมให้นายจ้างสถานประกอบการจ้างแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย โดยมี นางรษิกา ชาญณรงค์ แรงงานจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับ ณ ภูเก็ตแฟนตาซี ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้นายนันทชัยเปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชนชาวไทย ในวันนี้ในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้นำกิจกรรม นิทรรศการมาออกหน่วยเคลื่อนที่ตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจนโยบายการบริหารจัดการ การนำเข้า ป้องกันและคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าวของกระทรวงแรงงานและรัฐบาล เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องสิทธิของแรงงานต่างด้าว ภายใต้กรอบแนวคิด “แรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม” โดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปสู่นายจ้าง สถานประกอบกิจการที่จ้างแรงงานต่างด้านในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
รวมทั้งกำชับให้ส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ให้ความสำคัญต่อการบูรณาการในการบริหารจัดการ การนำเข้า ป้องกัน และคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าวให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย เช่น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การรักษาพยาบาล การได้รับสวัสดิการจากสถานประกอบการ อย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่เลวร้าย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดลำดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดิม
สำหรับการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบการจัดกิจกรรมในสถานประกอบกิจการในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในสิทธิความเท่าเทียมระหว่างแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่จะให้ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายของประเทศไทย รวมถึงเป็นการแสดงออกของกระทรวงแรงงานและรัฐบาลในการมุ่งมั่นส่งเสริม ป้องกัน มิให้นายจ้าง สถานประกอบกิจการเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้การจัดลำดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยจาก Tier 2 ไปสู่ Tier 1 ตามความมุ่งหวังของกระทรวงแรงงานและรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนและขอใบอนุญาตทำงานในจังหวัดภูเก็ต ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2566 พบว่า มีคนต่างด้าว จำนวน 57,804 คน นายจ้าง สถานประกอบการที่จ้างคนต่างด้าว จำนวน 12,452 ราย ส่วนใหญ่นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวอยู่ในประเภทกิจการก่อสร้าง ภาคบริการ จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม งานบ้าน และค้าส่ง ค้าปลีก แผงลอย สำหรับผลการตรวจสอบจับกุม ดำเนินคดีนายจ้าง สถานประกอบการ และคนต่างด้าวผิดกฎหมาย ของสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 – 31 ม.ค.66 พบว่า ตรวจสอบแรงงานต่างด้าว 1,436 ราย สถานประกอบการ 113 แห่ง ดำเนินคดี 8 ราย เป็นงานห้ามต่างด้าวทำ 6 ราย และไม่มีใบอนุญาตทำงาน 2 ราย
“การใช้แรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาความมั่นคงด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะช่วยให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองดูแลตามกฎหมาย และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในการต่อต้านการบังคับใช้แรงงานในรูปแบบต่างๆ รวมถึงป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและต่อต้านการใช้แรงงานผิดกฎหมายอีกด้วย” นายนันทชัยกล่าว