“รังสิมันต์” เตือน “ภูมิใจไทย” ใช้อำนาจไม่ชอบ จะเป็นศึกกับ “ก้าวไกล” ไปอีกนาน ปมร้องศาลฟัน “พิธา” ค้านย้าย “หมอสุภัทรอ” ชี้ เป็นการทำลายกลไกตรวจสอบฝ่ายค้าน
วันนี้ (2 ก.พ.) นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ยื่นถอดถอน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผ่าน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากพรรคก้าวไกล โดย นายพิธา ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม คือ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งแถลงการณ์ของพรรคในเวลานั้น เป็นการแถลงที่ไม่เห็นด้วยต่อการโยกย้ายดังกล่าว ปรากฏว่า พรรคภูมิใจไทยไปร้องต่อประธานสภา เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ว่า การกระทำของ นายพิธา เป็นการกระทำที่มีการแทรกแซง หรือเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการประจำ
นายรังสิมันต์ ชี้แจงว่า แถลงการณ์ของพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำที่สามารถทำได้ ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมา ก็แถลงแบบนี้เป็นประจำ แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถาม คือ หลังจากที่ออกแถลงการณ์ดังกล่าว นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ได้มีการเขียนข้อความใน Facebook ส่วนตัวในลักษณะที่พยายามเชื่อมโยง นพ.สุภัทร กับพรรคก้าวไกล ว่า มีการกระทำที่สอดคล้องกัน จึงมองว่าใครกันแน่ที่ผิด
“พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ที่ผ่านมา พยายามแสดงจุดยืนในการปกป้องข้าราชการน้ำดี ข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่ถูกรังแกจากผู้บริหารระดับสูง ถ้า นพ.สุภัทร มีประเด็นในเรื่องของการทุจริตมีการปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส ก็จะไม่ว่าสักคำ แต่ นพ.สุภัทร คือ ตัวอย่างของข้าราชการน้ำดี เช่นนี้แล้ว การที่พรรคภูมิใจไทยเข้าชื่อแบบนี้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนี้ ต่างหากที่ใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อทำลายการตรวจสอบของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน”
พร้อมยืนยันว่า พรรคก้าวไกล ไม่มีทางอยู่เฉย อาจจะมีการตอบโต้แน่นอน ถ้าเป็นเช่นนี้พรรคก้าวไกลและพรรคภูมิใจไทยคงต้องสู้รบกันไปอีกนาน
ส่วนจะนำเรื่องนี้ไปเป็นข้อมูลในการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ด้วยหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ในการอภิปรายเราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และจะตรวจสอบรัฐมนตรีทุกคน โดยจะพิจารณาจากเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งก็รวมไปถึงรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย ที่เคยมีการตรวจสอบเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม และการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อด้วย