รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ ปี 65 ส่วนใหญ่มองไม่มีปัญหาพึงพอใจ
วันนี้ (31 ม.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการสำรวจกความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ ซึ่งการสำรวจนี้ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ซึ่งสำรวจประชาชนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 17-31 ต.ค. 65 โดยสรุปความเห็นของประชาชนต่อสวัสดิการของรัฐ 7 รายการดังนี้
1. การใช้บริการสวัสดิการของรัฐด้านคุณภาพชีวิต เช่น เบี้ยยังชีพ เด็กแรกเกิด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยยังชีพคนพิการ พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 97 ระบุว่า ไม่มีปัญหาการใช้บริการและพบว่าน้อยกว่าร้อยละ 3.0 มีปัญหา เช่น เงินไม่เพียงพอ ลำบากในการต้องไปถอนเงิน และเงินเข้าช้า
2. สวัสดิการของรัฐด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรียนฟรีถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน พบว่า ประชาชนร้อยละ 80.6 ระบุว่า สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก-มากที่สุด และร้อยละ 3.2 เห็นว่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้น้อย-น้อยที่สุด หรือไม่ช่วยเลย
3. สวัสดิการของรัฐด้านการรักษาพยาบาล ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 97.0 ระบุว่า ไม่มีปัญหาในการใช้บริการ และน้อยกว่าร้อยละ 2 มีปัญหา เช่น การบริการล่าช้า รอคิวนาน และต้องใช้บริการเฉพาะโรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น
4. ความพึงพอใจในการใช้บริการด้านการรักษาพยาบาล แยกเป็น การสำรวจความพึงพอใจต่อการใช้สถานพยาบาลตามประเภทสถานพยาบาล พบว่า ประชาชนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนร้อยละ 76.8 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และร้อยละ 1 พึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด ส่วนประชาชนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐร้อยละ 70.4 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด และร้อยละ 3.6 มีความพึงพอใจน้อย-น้อยที่สุด ส่วนความพึงพอใจต่อสิทธิรักษาพยาบาล พบว่าประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพ/ประกันชีวิตร้อยละ 86.5 มีความพึงพอใจมาก-มากที่สุด รองลงมาคือ สิทธิสวัสดิการ ข้าราชการ จ่ายเงินเอง สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิกองทุนประกันสังคม ตามลำดับ
5. สวัสดิการที่ประชาชนต้องการให้รัฐจัดเพิ่ม เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่เลี้ยงดูบิดา/มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 93.5) จัดสวัสดิการศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหน่วยงาน/ใกล้สถานที่ทำงาน (ร้อยละ 78.6) และจัดสวัสดิการขนส่งสาธารณะฟรีให้กับเด็ก/เยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี (ร้อยละ 85.9)
6. การจัดเก็บภาษีผู้มีรายได้เพื่อนำมาจัดสวัสดิการให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย พบว่า ประชาชนร้อยละ 44.6 ยินยอบให้จัดเก็บได้ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ได้สวัสดิการที่ครอบคลุมและทั่วถึง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียม และประชาชนร้อยละ 37.5 ไม่ยินยอมให้จัดเก็บด้วยเหตุผลว่า ไม่มีเงินเพียงพอที่จะเสียภาษี กลัวจัดสวัสดิการให้ประชาชนไม่ทั่วถึง และไม่มีหลักเกณฑ์หรือกฎหมายที่แน่นอนที่จะรับประกันการจัดสวัสดิการให้
7. การลงทะเบียนโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 พบว่า ประชาชนลงทะเบียนร้อยละ 84.2 ไม่ประสบปัญหาในการลงทะเบียน ขณะที่ร้อยละ 15.8 ประสบปัญหา ได้แก่ รอคิวลงทะเบียนกับหน่วยงานนาน เว็บไซต์ขัดข้อง/ล่ม และเดินทางไปหน่วยงานที่รับลงทะเบียนไม่สะดวก หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในการสำรวจยังได้สรุปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 เรื่อง ดังนี้ 1. ควรจัดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่มากขึ้น และลดการถูกทอดทิ้งให้อยู่ลำพัง พร้อมทั้งจัดให้มีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตต่างๆ
2. ส่งเสริม/สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาขึ้น ให้สามารถเข้าถึงการบริการช่องทางต่างๆ ของทุกหน่วยงานอย่างสะดวก รวมถึงการทำให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยออนไลน์
3. สร้างความเชื่อมั่นในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนในการใช้สิทธิการรักษาพยาบาลทุกประเภทให้มีความเท่าเทียม ทั่วถึง และครอบคลุมในทุกพื้นที่ เช่น คุณภาพยา บริการและความสะดวกรวดเร็ว
4. สนับสนุนให้มีสวัสดิการเรียนฟรีในทุกระดับ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือน และทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม
5. ส่งเสริม/สนับสนุนสวัสดิการในเรื่องคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนเพิ่มเติม เช่น ค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่เลี้ยงดูบิดา/มารดา ที่มีอายุ 60 ปีขึ้น ไปจัดศูนย์เด็กเล็ก/พัฒนาเด็กเล็กใกล้สถานที่ทำงาน และจัดบริการขนส่งสาธารณะฟรีให้เด็ก/เยาวชน