xs
xsm
sm
md
lg

เผย ปี 66 คนกรุงได้ใช้ 3 ท่าเรือ “ท่าเรือพระราม 7-ท่าเรือท่าเตียน-ท่าเรือเกียกกาย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทิพานัน” เผย ปี 66 คนกรุงได้ใช้ 3 ท่าเรือ “ท่าเรือพระราม 7-ท่าเรือท่าเตียน-ท่าเรือเกียกกาย” ชูวิสัยทัศน์ “พล.อ.ประยุทธ์” ทำ Smart Pier ในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้ง 29 ท่า ใช้งานในอีก 2 ปี เพื่อเชื่อมต่อล้อ-ราง-เรือ แก้ปัญหารถติด บูมท่องเที่ยวทางน้ำ

วันนี้ (30 ม.ค.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ อย่างไร้รอยต่อ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีความสะดวกสบาย ปลอดภัยในการเดินทาง แก้ปัญหาการจราจรติดขัด และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ผ่านแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นสถานีเรือที่มีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย มีรูปลักษณ์สวยงามเป็นแลนด์มาร์ก เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ทั้งทางถนนและทางรางจำนวน 29 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล งบประมาณ 942 ล้านบาท

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้ง 29 ท่า ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดใช้งานแล้วจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือสาทร และท่าเรือพายัพในช่วงระหว่างปี 2562-2564 และในปี 2565 ที่ผ่านมา ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอีก 2 แห่งได้แก่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือราชินี และท่าเรือบางโพ เป็น “ของขวัญปีใหม่ 2566” ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2566 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือพระราม 7 ท่าเรือท่าเตียน และท่าเรือเกียกกาย ที่เหลืออีก 18 แห่ง คาดว่า ดำเนินการได้แล้วเสร็จตามแผนในปี 2568 ได้แก่  ท่าเรือพระราม 5 ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ท่าเรือปากเกร็ด ท่าเรือสี่พระยา ท่าเรือเขียวไข่กา ท่าเรือสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ท่าเรือพรานนก ท่าเรือเทเวศร์ ท่าเรือโอเรียนเต็ล ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือพิบูลสงคราม 2 (นนทบุรี) ท่าเรือวัดตึก ท่าเรือพิบูลสงคราม 1 ท่าเรือวัดเขมา ท่าเรือวัดสร้อยทอง ท่าเรือวัดเทพากร ท่าเรือวัดเทพนารี และท่าเรือรถไฟ โดยเมื่อการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือแล้วเสร็จตามแผนทั้งหมดจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 53,000 คนต่อวัน ในปี 2570

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากจะมีการพัฒนาท่าเรือแล้ว ยังส่งเสริมให้มีเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าที่สามารถประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดรับเป้าหมายของรัฐบาลในการเร่งผลักดันให้เกิดการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065

“สะท้อนวิสัยทัศน์และการคิดบูรณาการของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่เพียงมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม รัดกุม รอบด้านในทุกมิติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น