xs
xsm
sm
md
lg

ปลุก “เรียนรู้ตลอดชีวิต” ก้าวทันการจ้างงานในอนาคต ...

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปกรณ์ นิลประพันธ์” ปลุกสังคมร่วมสร้าง "ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต" ส่งเสริมการศึกษาแบบ "ไร้รอยต่อ" ด้วยการ "พัฒนาคน" ให้มีทักษะที่หลากหลาย ก้าวทันการจ้างงานในอนาคต ชี้ช่องดูแล "เยาวชนแรงงาน" ผนึกเครือข่ายแรงงานและวิสาหกิจเพื่อสังคมให้ความรู้ทางธุรกิจผุดแพลตฟอร์มบริการชุมชน ปั้น “ช่างชุมชน” - “นักธุรกิจชุมชน” มีงานมีรายได้และทักษะใหม่ฝ่าข้ามเศรษฐกิจเปราะบาง

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาและอดีตกรรมการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) เปิดเผยว่าแนวทางการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบการศึกษา หลักการสำคัญ คือ ต้องร่วมสร้าง "ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต" หรือ Lifelong Learning Ecosystem ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาแบบ "ไร้รอยต่อ" สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการ "พัฒนาคน" ให้มีทักษะที่หลากหลาย หรือ Multi-skill ฝ่าข้ามเศรษฐกิจเปราะบางและก้าวทันการจ้างงานในอนาคต อันเกิดจากความเสี่ยงปัญหาว่างงาน เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานคน , สถานการณ์ โควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ และ โรงงานอุตสาหกรรมเริ่มจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนแรงงานไทยเนื่องจากอัตราค่าจ้างต่ำกว่า


ทั้งนี้แนวทางการสลายปัญหาทางการศึกษาในกลุ่ม “เยาวชนแรงงาน” ในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ต้องส่งเสริมการสร้าง “เครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคม” หรือ Social Enterprise ให้เข้ามาร่วมสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้ 1.ส่งเสริมความรู้ทางธุรกิจ Service Mind ถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริการ และ Service provider ที่ผู้ให้บริการ (เยาวชนแรงงาน) ต้องรู้จักดูแลเอาใจใส่ลูกค้า ตัวอย่างเช่น การให้บริการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ น้อง ๆ จะได้รับค่าจ่ายเพียงครั้งเดียวแต่ถ้าน้อง ๆ รู้จัก “ทำบัญชีลูกค้า” ว่า แอร์แต่ละเครื่องที่ติดตั้งให้ลูกค้าแต่ละคนถึงรอบการรับบริการล้างแอร์เมื่อไร จากนั้นสื่อสารไปสอบถามลูกค้าว่ายินดีรับบริการล้างแอร์หรือไม่ หรือ จัดโปรโมชั่น เช่น ล้างแอร์ครั้งแรก คิดราคา 500 บาท ครั้งที่ 2 คิดราคา 400 บาท และถ้าเป็นลูกค้าประจำอาจลดราคาถูกลงกว่านี้ก็ได้ หรือ หากมีความร่วมมือร่วมกันระหว่างกลุ่มสหภาพแรงงาน กับโรงงาน ด้วยการการขอซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ หรือ ปั้มน้ำ ในราคาหน้าโรงงานจาก “ไฮเออร์” หรือ “ฮิตาชิ” ที่เยาวชนแรงงานทำงานอยู่มารับจ้างติดตั้งประกอบแอร์บ้าน หรือ ติดตั้งปั๊มน้ำ ถือเป็นการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility (CSR)อีกด้วย

2.ส่งเสริมแพลตฟอร์มการบริการชุมชน โดยมีฐานข้อมูลเยาวชนแรงงานแต่ละคนมีความถนัดทักษะอาชีพที่แตกต่างและหลากหลายโดยนำข้อมูลเหล่านั้นมาแบ่งปันร่วมกัน ทั้งในชุมชนหรือระหว่างชุมชน อาทิ ข้อมูลช่างชุมชน เช่น ช่างแอร์ ช่างประปา ช่างไฟฟ้า หรือ นักธุรกิจชุมชน เช่น อาหารเครื่องดื่มเบเกอรี่ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ 3.พัฒนาทักษะอาชีพ Upskill และ Reskill เนื่องจากในเขตนิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี เป็นแหล่งที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสินค้าที่หลากหลาย เช่น ไฮเออร์ และ ฮิตาชิ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องปรับอากาศ , ปั้มน้ำ , เครื่องซักผ้า , ตู้เย็น เป็นต้น จึงควรส่งเสริมให้เยาวชนแรงงานได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพเสริมระหว่างทำงานประจำในโรงงาน เป็น “ช่างชุมชน” เช่น ช่างแอร์ ช่างประปา หรือ ช่างไฟฟ้า เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น