xs
xsm
sm
md
lg

“ชวน” ติง ครม.นานไปซักฟอกหลัง 15 ก.พ.จ่อถกวิปเคาะ 25 ม.ค.รับ รบ.คุมเสียงไม่ได้ต้นตอสภาล่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปธ.สภา ติง ครม.ให้เวลาฝ่ายค้านซักฟอกหลัง 15 ก.พ. นานไป เผย “สุชาติ” เตรียมประชุมวิป 2 ฝ่าย เคาะ 25 ม.ค.นี้ ยอมรับรัฐบาลคุมเสียงไม่ได้ ต้นตอทำสภาล่มซ้ำซาก

วันนี้ (15 ม.ค.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการกำหนดวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อกำหนดวันอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ว่า นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา ได้นัดวิปทั้ง 2 ฝ่าย ประชุมหารือเพื่อกำหนดวันและเวลาอภิปรายในวันที่ 25 ม.ค.นี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุมวิปจะเห็นร่วมกัน แต่เบื้องต้นยอมรับว่า เงื่อนเวลาที่คณะรัฐมนตรีตอบกลับมายังสภา หลังวันที่ 15 ก.พ.ยาวนานเกินไป ซึ่งควรจะอยู่ต้นเดือน ก.พ. ตามที่ฝ่ายค้านเสนอน่าจะเหมาะสมกว่า

“ฝ่ายค้านแย้งว่า เวลาที่รัฐบาลให้ความพร้อมมาหลัง 15 ก.พ.มันไกลเกินไป เพราะเค้าได้ยื่นญัตติมาตั้งแต่ ธ.ค.แล้ว ซึ่งเดิมทีคาดการณ์ว่า การอภิปรายจะเริ่มได้หลังกลางเดือน ม.ค. 66 ส่วนตัวผมก็เห็นด้วยว่ามันไกลเกินไป และการอภิปรายตามมาตรา 152 ไม่ใช่การอภิปรายเพื่อลงมติ แต่เป็นเพียงการอภิปรายชี้ให้เห็นปัญหาและเสนอแนะทางออกเท่านั้น” นายชวน กล่าว

นายชวน ยังกล่าวถึงเหตุการณ์สภาล่มซ้ำซาก จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ ส.ส.ในเชิงลบ โดยยอมรับว่า ขณะนี้รัฐบาลควบคุมเสียงในสภาได้ยาก การจะเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายที่ค้างในสภาให้แล้วเสร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย ไม่เช่นนั้น จะมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม โดยเฉพาะเวลานี้ยิ่งยาก เพราะมีสถานการณ์การย้ายพรรคเกิดขึ้น แม้ว่า ส.ส.ที่ย้ายไปจะไปสังกัดพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ก็สิ้นสมาชิกภาพไปแล้ว ตอนนี้จึงทำได้เพียงประสานความร่วมมือกันทุกฝ่าย แต่ยืนยันว่า ตัวเลขสมาชิกที่ลาออกไป ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสภา เพราะองค์ประชุมยังเดินหน้าไปได้ เห็นได้จากการตรวจสอบองค์ประชุมจะใช้เวลานาน แต่ตอนลงมติองค์ประชุมจะครบ เพราะมีสมาชิกบางส่วนไม่ยอมกดบัตรแสดงตน หรือบางช่วงมีการกลั่นแกล้งกัน พร้อมยืนยันสภาชุดนี้เป็นชุดที่มีผลงานมากที่สุด เพียงแต่มีการไปหยิบยกเรื่องสภาล่มมาเป็นประเด็นหลัก

ประธานสภา ยังเปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 19 ม.ค. จะมีการประชุมสภานัดพิเศษ เพื่อพิจารณาวาระที่ยังค้างอยู่ 3 ฉบับ และร่างกฎหมายที่ฝ่ายค้านเสนอใหม่อีก 4 ฉบับ จากนั้นจะมีการประชุมวุฒิสภา ซึ่งล่าสุด วุฒิสภาได้ให้เวลามาวันที่ 24-25 ม.ค. แต่ต้องหารือกันอีกครั้ง

ยืนยันว่า การประชุมสภานัดพิเศษ มีความจำเป็น ไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถพิจารณาร่างกฎหมายที่ค้างได้ทัน ส่วน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ อาจพิจารณาไม่ทันสมัยประชุมนี้ เพราะเพิ่งพิจารณาผ่านไปได้ไม่กี่มาตรา


กำลังโหลดความคิดเห็น