xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลห่วงใย “เด็ก-เยาวชน” จากภัยมิจฉาชีพในโซเชียลมีเดีย หลอกทำงาน ชวนลงทุน เตือนระมัดระวังการพูดคุยคนแปลกหน้าอย่าหลงเชื่อโอนเงินโดยง่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลห่วงใยเด็กและเยาวชนจากภัยมิจฉาชีพในโซเชียลมีเดีย หลอกทำงาน ชวนลงทุน เตือนระมัดระวังการพูดคุยคนแปลกหน้าอย่าหลงเชื่อโอนเงินโดยง่าย แนะผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด โรงเรียนให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกัน หน่วยงานเกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายเด็ดขาด

วันนี้ (14 ม.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ปัจจุบันประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนได้ใช้เวลาอยู่กับเครื่องมือสื่อสารและโลกออนไลน์มากขึ้นและมีความสนใจหารายได้รูปแบบต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย จึงเพิ่มโอกาสเผชิญกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ ถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่แฝงตัวอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยและขอย้ำเตือนให้ประชาชนระมัดระวังภัยที่มาในรูปแบบต่างๆ อาจนำไปสู่ความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต เช่นกรณีเหตุเศร้าที่เกิดกับนักเรียนชั้น ม.3 ในพื้นที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อไม่นานมานี้

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมประชาสัมพันธ์ ได้เร่งประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ให้ความรู้ประชาชนให้รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของมิจฉาชีพในโซเชียลมีเดียโดยต่อเนื่อง แต่ด้วยการใช้โชเชียลมีเดียที่กว้างขวางของประชาชนหลายกลุ่มและช่วงวัย อาจทำให้ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่รู้ไม่เท่าทันและตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลจึงขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลสอดส่องการใช้โซเชียลมีเดียของบุตรหลาน เตือนให้ระมัดระวังมิจฉาชีพ การหลอกลวง กลโกที่มาในรูปแบบต่างๆ โรงเรียน สถานศึกษามีการสอดแทรกความรู้ผ่านสื่อการสอน หรือช่องทางประชาสัมพันธ์ของสถานศึกษาให้เยาวชนรู้ถึงภัยที่มากับโลกออนไลน์และสามารถป้องกันตนเองได้ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด

โดยพฤติการณ์ของมิจฉาชีพในโซเชียลมีเดียถือเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษสูงหลายฐาน อาทิ ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท ความผิดตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ฐานโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน โทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท

“ปัจจุบันมิจฉาชีพได้แฝงมาในโลกออนไลน์จำนวนมากและหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการชักชวนลงทุน หรือชักชวนให้ทำงาน เช่น ให้ดูยูทูป โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อปั่นยอดวิว ก่อนโน้มน้าวชักชวนลงทุนและนำไปสู่การหลอกลวงทำให้เสียทรัพย์ จึงขอให้ประชาชนและเยาวชนระมัดระวัง ตรวจสอบบุคคลที่มาชักชวนทำงานหรือลงทุนอย่างรอบคอบ อย่าโอนเงินให้ใครโดยง่ายโดยเฉพาะคนแปลกหน้า” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น