รองนายกฯ ระบุ นายกฯ ตั้งที่ปรึกษาส่วนตัว ไม่ใช่ ขรก.การเมือง บอกเป็นตำแหน่งลอย ยันไม่ได้เอื้อช่วยเลือกตั้ง รับรายงาน ครม.แล้ว ปมปลัด มท.ด่ากราดกลางที่ประชุม ย้ำ คำสั่งให้อธิบดีกรมอุทยานฯ ช่วยราชการ ไม่ได้ปกป้อง แต่เพื่อไม่ให้ยุ่งหลักฐาน
วันนี้ (10 ม.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นคำสั่งอาศัยอำนาจตามกฎหมายระเบียบราชการแผ่นดิน มาตรา 11(6) แต่ไม่ได้เป็นข้าราชการทางการเมืองแต่อย่างใด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กับที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เหมือนกันหรือไม่ นายวิษณุ อธิบายความว่า ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมี 5 ตำแหน่ง เป็นราชการทางการเมือง เช่นเดียวกับตนมีที่ปรึกษา ซึ่ง 5 ตำแหน่งซึ่งตั้งไว้เต็มหมดแล้ว ส่วนที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นเพียงคำเรียกจะได้รู้ว่าเป็นที่ปรึกษาของใคร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นการทำให้เอื้อในกิจการใดๆ นายวิษณุ ยืนยันว่า “ไม่ได้” ยกเว้นแต่นายกฯมอบหมาย ก็สามารถเรียกมาชี้แจงได้ พร้อมอธิบายว่า ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามมาตราที่ 11(6) ตามอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน นายกฯสามารถแต่งตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการหรือคณะกรรมการเข้ามาช่วยงาน ส่วนสิทธิประโยชน์เป็นเช่นไรก็แล้วแต่
พร้อมย้ำว่า การแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกฯ ทั้ง 3 คน ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง เป็นเพียงตำแหน่งลอย และยืนยันทั้ง 3 คน ที่ถูกแต่งตั้งมาไม่ได้เข้ามาเพื่อช่วยการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พูดคำหยาบในระหว่างการประชุม ว่า กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าได้มีการดำเนินการ ตามประมวลจริยธรรมแล้ว เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นต้องให้คณะกรรมการประจำกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ดำเนินการ หากเข้าขั้นผิด ก็จะดำเนินการทางวินัย หากผิดตามคดีอาญา ก็ดำเนินการตามคดีอาญา
ส่วนคดีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรียกรับผลประโยชน์ นายวิษณุ กล่าวว่า การที่นายกฯ ออกคำสั่งให้มาช่วยราชการในทำเนียบรัฐบาล ไม่ได้เป็นการปกป้อง คุ้มครอง และยังคงมีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ อยู่ ยังอยู่ในอำนาจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การที่ดึงตัวออกมาไม่ให้สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงในพยานหลักฐาน โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เข้ามารายงานตัวกับปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่เข้าใจได้ว่า หลังจากนั้นขอลา เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะมีมูล คณะกรรมการตรวจวินัยร้ายแรง นำไปสู่การลงโทษทางวินัยต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าจะมีการสอบวินัย ใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ แต่การดำเนินคดีอาญาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ต้องใช้อำนาจ ให้เป็นไปตามขั้นตอน