วันนี้(8 ม.ค.)นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตยานนาวา-บางคอแหลม พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในพื้นที่เขตยานนาวามีโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จ (หรือแพล้นปูน) ตั้งอยู่มาก จึงจำเป็นต้องหาแนวทางสร้างสมดุลระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังที่ตนเคยเสนอนโยบายการเปลี่ยน csr เป็นกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อนำไปใช้ในการกำกับดูแลและเยียวยาพื้นที่รอบโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งสำคัญที่จะทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพคือ การบังคับใช้กฎหมายและผังเมือง ซึ่งปัจจุบันมี กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมดูแล แต่ขณะเดียวกัน กรุงเทพถือเป็นเป็นพื้นที่พิเศษที่ดูแลโดยท้องถิ่น หลายปีมานี้จึงมีความพยายามถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ตรงนี้มาให้ กทม. ดังนั้น ความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ของตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
"ผู้อำนวยการเขตก็จะต้องกำกับดูแลให้สอดคล้องกับกฎหมายผังเมือง กทม.และกรมโรงงาน เช่นเดียวกับเขตอื่นๆ หากมีบริบทพื้นที่แบบเดียวกัน เขตก็ต้องลงมาดูแลเรื่องนี้ด้วยตัวเองมากขึ้น โรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนผังเมืองสีน้ำตาล คือที่อยู่อาศัยหนาแน่น กรมโรงงานเคยมีประกาศงดเว้นสำหรับโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จสำหรับไซต์งานก่อสร้างแบบชั่วคราว ให้ไม่ถือว่าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมตาม พ.ร.บ.โรงงาน 2546 ต่อมาได้มีประกาศจากกรมโรงงานยกเลิกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์พิจารณาโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จ มีผลให้โรงงานคอนกรีตผสมเสร็จกลับไปอยู่ภายใต้นิยามโรงงานใน พ.ร.บ.โรงงาน62"
นายจรยุทธ กล่าวต่อว่า กิจการที่มีเครื่องจักรเกิน 50 แรงม้าต้องขอใบอนุญาติประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) เพื่อประกอบกิจการโรงงานปกติต่อกรมโรงงาน และหนังสือแนบท้ายประกาศกรมโรงงานให้โรงงานที่มีหนังสือรับรองการตั้งโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จสำหรับไซต์งานก่อสร้างที่ออกให้ก่อนออกประกาศนี้ให้ใช้ต่อไปจนหมดอายุหรือโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ ส่วนโรงงานตั้งใหม่ต้องขออนุญาติประกอบกิจการโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน ปี 62 คือต้องขอใบอนุญาติประกอบกิจการโรงงาน รง.4 กรณีมีการใช้เครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป
"สิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องรีบจัดการก็คือ ตรวจสอบการออกใบอนุญาตก่อสร้างว่าตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ในการดำเนินการอนุญาตก็จะต้องพิจารณาตามกฎหมายผังเมืองประกอบว่าการก่อสร้างนั้นผิดกฎหมายผังเมืองหรือไม่ สำหรับโรงงานประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตใบประกอบกิจการโรงงานนั้นมีความผิดโดยชัดเจน มีบทลงโทษทางกฎหมาย โดยอาจถูกดำเนินคดีทั้งโทษปรับและออกคำสั่งให้รื้อถอน หรือโรงงานจะหยุดผลิตและยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้ แต่ระหว่างนั้นอาจมีโทษปรับรายวันจนกว่าจะได้ใบอนุญาต"
นายจรยุทธ ยังกล่าวต่อว่า ผังเมืองในพื้นที่เป็นสีน้ำตาลไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้ทุกประเภท ยกเว้นจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้งานผังเมืองในเขตกรุงเทพมหานครที่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงงานได้ ดังนั้น ตรงนี้จึงเป็นความลักลั่นและท้าทายว่าทางผู้มีอำนาจจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ทุกอย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์และเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเจตนารมณ์ พ.ร.บ.โรงงานปี 62 โรงงานประเภทที่ 1 และ 2 จะต้องมีการถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่นดูแล ตามข้อนี้จึงอาจจะเป็นเหตุให้เขตมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการกำกับดูแลเรื่องใหม่ๆได้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องหาแนวทางหนุนเสริมความเข้าใจและยกระดับการกำกับดูแลกันต่อไป