xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกเด็กอาชีวะชี้ชะตาประเทศ! สสส. ยกเป็นแกนหลักรับผิดชอบเศรษฐกิจชาติรอดหรือร่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สอศ.” ขับเคลื่อนโมเดลเทคนิคพังงา ต้นแบบสถานศึกษาปลอดเหล้า บุหรี่ สานต่ออาชีวะปลอดปัจจัยเสี่ยง ขณะที่เยาวชนแกนนำถอดรหัสทำงานประยุกต์กิจกรรมให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ สร้างภูมิคุ้มกันก่อนเดินทางผิด

วันนี้(29 ธ.ค.)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ลงพื้นที่ศึกษาและถอดบทเรียนการจัดกิจกรรมต่างๆในสถานศึกษาภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวะศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง(เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา

นายศรีสุวรรณ ควรขจร รองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคพังงา ถือเป็นสถานศึกษาต้นแบบ และมีผลงานดีเยี่ยม ในการพยายามให้นักศึกษา ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเหล้า บุหรี่ อันจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และสังคม นับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ ของ สสส. และความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น นับเป็นสิ่งที่ประเทศต้องการ เพราะเด็กเยาวชน วัยมัธยม ต่อเนื่อง มัธยมปลาย อาชีวะ นับเป็นช่วงสำคัญมากต่อทางชีวิตแต่ละคน เราจะหันเหไปทางไหน นี้คือช่วงสำคัญ

“ผมเชื่อว่าประเทศจะอยู่รอดได้ อยู่ที่เด็กอาชีวะ เพราะเขามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว อนาคตเราจะมีประชากรสูงวัยเต็มบ้านเมือง เพราะฉะนั้นภารกิจของเทคนิคพังงา และอีกหลายวิทยาลัย มีความหมายสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ นำพาสังคม เพื่อนๆ ต่างโรงเรียน ได้รับรู้ ตระหนักและเท่าทันกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า เด็กอาชีวะจะสามารถเป็นพลังในการสร้างชาติ ให้อยู่รอดต่อไป” นายศรีสุวรรณ ระบุ

ด้านเรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สถานศึกษาต้นแบบ วิทยาลัยเทคนิคพังงา เป็นที่ภาคภูมิใจของพวกเรา อาชีวะจะต้องสร้างชาติ พัฒนาคนไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ซึ่งจะต้องมีคุณลักษณะความพร้อมทั้ง ทางกายใจ และ ปราศจากความเสี่ยงต่างๆ สำนักงานอาชีวะฯ มี 24 สถานศึกษาทั่วประเทศ เป็นต้นแบบ ปลอดอบายมุข

“ปีหน้าการทำงานในการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ เราจะขยายผลไปในวิทยาลัยทั่วภาคใต้ เพิ่มศักยภาพ การคุ้มครองสุขภาพ สิทธิเสรีภาพในการคุ้มครองความปลอดภัยทั้งหลาย อันเกิดจากปัจจัยความเสี่ยงทั้งเหล้า สุรา บุหรี่ ยาเสพติดทั่งหลาย ไม่ให้มีในสถานศึกษา ในปี 66 นี้ ผมได้รับมอบหมายจากเลขาธิการการอาชีวศึกษา ให้ดูแลศูนย์ใหม่ นั้นคือศูนย์ความปลอดภัยอาชีวะศึกษา ผมจะรับภารกิจนี้ อย่างเต็มรูปแบบ และมีความเชื่อว่า ถ้าครู บุคลากรทางการศึกษา ชุมชนหน้าโรงเรียน ชุมชนหน้าสถานศึกษา รวมทั้งสถานประกอบการ หรือ สถานศึกษา ต้องมีทิศทางการมองแบบ 360 องศา ในการเยียวยาช่วยเหลือ “เรืออากาศโท สมพร ระบุ

ด้าน นายนาถวัฒน์ ลิ้มสกุล วิทยาลัยเทคนิคพังงา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้ามาเป็นส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและทำให้ภาพของเด็กอาชีวะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ความจริงแล้วเด็กอาชีวะเป็นเด็กที่เก่งและมีความสามารถ แต่ภาพลักษณ์ ภาพจำเก่าๆที่ถูกตีตรามาเลยทำให้คนส่วนใหญ่ยังมองภาพเด็กอาชีวะในทางลบอยู่ ซึ่งตนเองดีใจที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่ง ทำให้เพื่อนๆของเราถูกยอมรับมากขึ้น การเข้าร่วมโครงการนี้มันทำให้เราได้พันธมิตรมากขึ้น เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราทำคนเดียวไม่ได้ ทำโดยสถานศึกษาเดียวไม่ได้ พอได้เจอกับเพื่อนๆหลายสถานศึกษาทำให้ได้เห็นว่าเขามี วิธีการอย่างไร เขาดำเนินการอย่างไร แล้วเรานำมาสามารถปรับใช้ร่วมกันได้ เพื่อให้เราเกิดเป็นภาพกว้าง อิมแพค มากที่สุด

“พวกเราชาวเทคนิคพังงา เชื่อว่าการรณรงค์ เป็นเรื่องที่สำเร็จผล แต่เห็นผลได้น้อย เราเลยพยายามคิดกิจกรรมต่างๆ ให้น้องๆ ผู้เข้าร่วม ได้คิด และลงมือทำด้วยตนเอง เช่น มีการทำบทบาทสมมติขึ้นมา ว่าถ้าเขาอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงแบบนี้ เขาจะปฏิบัติตัวอย่างไร เรามีการนำเกมประยุกต์กิจกรรมให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ เพราะไม่อยากให้เป็นอารมณ์ที่ว่า เข้ามาอบรมแล้วเป็นเชิงวิชาการอย่างเดียวแล้วน่าเบื่อ” แกนนำโครงการ ระบุ

ขณะที่ แพท พาวเวอร์แพท เปิดบทเรียนชีวิตที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเกือบ 17 ปี ว่า อยากจะบอกเล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่นที่ผิดพลาด ซึ่งเป็นรุ่นราวคราวเดียวกับน้องๆในตอนนั้นเริ่มจากบุหรี่ เหล้า คือจุดเริ่มต้นของอะไรหลายอย่าง ตอนอายุ 14 -15 ก็เริ่มลองสูบบุหรี่ ตนเองนั้นเลือดอาชีวะ จบสายเทคนิค มีกลุ่มก๊วนเพื่อน ที่ชักจูงกันไปในสิ่งเหล่านี้ สูบบุหรี่กันในโรงเรียน

“เป็นปกติวัยรุ่นอยากรู้ อยากลอง แต่บางสิ่งบางอย่าง เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปลองเอง เราเรียนรู้จากชีวิต คนอื่นได้ ถึงความผิดพลาด สิ่งที่เขาได้รับ เช่นตัวผมเอง จุดเริ่มต้นเล็กๆจากเหล้าบุหรี่ ทำให้ลุกลามไปเรื่อยๆ มันดึงไป ทำให้ชีวิตเราตกต่ำและไปสู่สังคมที่มันแย่ ผมอยากจะบอกว่า ผมประสบกับตัวเองมาแล้ว 17 ปีที่ไม่ได้ออกมาสู่โลกภายนอก มาจากจุดเริ่มต้นนี้” แพท ระบุ

แพท ระบุด้วยว่า พอเราใช้สารเสพติดไปมากๆแน่นอนว่า พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายทรุดโทรม งานก็ทำได้ไม่ปกติเหมือนเดิม ศักยภาพที่เคยมี ที่เคยทำได้ก็ถดถอยลง วิถีชีวิตของเรามันก็ผิดแผกไปจากคนปกติ เพื่อนที่ดีๆ เจ้านายที่ดี สังคมที่ดี โดนผลักออกหมด แล้วเราก็ไปคบเพื่อนที่อยู่ในวงการอบายมุขด้วยกัน มันก็เริ่มชักนำพาสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาเรื่อยๆมีความคิดผิดๆ คบเพื่อนผิด แล้วไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สุดท้ายเข้าไปอยู่ในเรือนจำ และหลายคนที่เข้าไปแล้วก็ไม่สามารถกลับมายืนได้ถึงจุดนี้ อาชีพไม่มี สถานะทางสังคมหมดสิ้น เพื่อนหาย เพราะต้องใช้ชีวิตในนั้น ยาวนานมาก และยากมากที่ใครจะกลับมายืนในจุดเดิมได้


กำลังโหลดความคิดเห็น