"สว.สถิตย์" เสนอให้ประเทศไทยปลอดบุหรี่ ตามรอยนิวซีแลนด์ เกิดหลังจากปี 51 ห้ามจำหน่าย และให้มีแอพพลิเคชั่นสมุดพกสุขภาพของคนไทย จะได้ติดตามสุขภาพตัวเองได้
เมื่อวันที่ (27 ธันวาคม 2565) ในการประชุมวุฒิสภา วาระการรายงานประจำปี 2564 ของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายในเรื่องนี้ว่า ภูมิหลังที่มาของกองทุน สสส. คือ การจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมอีกร้อยละ2 จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสุรายาสูบ เพื่อนำเข้ากองทุนสสส. เมื่อใดก็ตามที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตสุรายาสูบได้เพิ่มขึ้น รายได้ของกองทุน สสส. ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันกองทุนสสส. มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี โดยไม่มีเพดานขั้นสูง ซึ่งบางองค์กร เช่น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดเก็บเพิ่มเติมร้อยละ 1.5 แต่มีเพดานที่ 2,000 ล้านบาท การเปิดโอกาสให้จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากภาษีปกตินั้น ในปัจจุบันตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะหลักการการจัดเก็บภาษีนั้น เมื่อจัดเก็บแล้วก็ต้องนําเข้าไปสู่กระบวนการของงบประมาณ ถือว่า สสส. มีโอกาสที่ดีที่ได้สิทธิในเรื่องนี้มาก่อน พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพราะกฎหมายที่เก็บภาษีเพิ่มในลักษณะนี้ไม่สามารถจะมีได้อีกแล้ว จึงอยากให้ สสส. ใช้โอกาสที่มีสิทธิพิเศษนี้กลับไปสู่ภูมิหลังที่แท้จริงของการได้มาซึ่งรายได้ในจากภาษีสรรพสามิตสุรายาสูบ โดยการสร้างวิสัยทัศน์ที่ท้าทายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดจากบุหรี่ เฉกเช่นเดียวกับประเทศนิวซีแลนด์ที่เพิ่งประกาศว่าจะเป็นประเทศปลอดบุหรี่ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยบัญญัติเป็นกฎหมาย และเปลี่ยนแนวคิดในการห้ามจําหน่ายบุหรี่ จากเดิมที่กำหนดกฎเกณฑ์อายุในการห้ามจำหน่ายบุหรี่ เช่น เกิน 20 ปี ห้ามจำหน่ายบุหรี่ให้ เป็นการกำหนดว่าถ้าหากผู้ใดเกิดหลังจากปี พ.ศ. 2551 คือ ณ วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป ห้ามจําหน่ายบุหรี่ให้กับบุคคลนั้น
นอกจากนั้น สว. สถิตย์ ยังได้เสนอแนะให้ สสส. จัดทำแอพพลิเคชันสมุดพกสุขภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัล การจัดทำแพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชันเป็นสมุดรายงานสุขภาพของประชาชนที่ทุกคนสามารถรู้ว่าสุขภาพของตัวเองเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับสมุดพกนักเรียน ที่รู้ว่าการเรียนของตนเป็นอย่างไร โดยอาจเริ่มจากกลุ่มผู้สูงวัย เพราะประเทศไทยกําลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้ผู้สูงวัยทั้งหลายทั้งในเมือง และในชุมชนได้มีสมุดรายงานสุขภาพผ่านทางแอพพลิเคชันนี้ จากนั้นเริ่มที่เด็กปฐมวัย เด็กที่อยู่ในการศึกษาขั้นต้น ต่อ ๆ มาจนในที่สุดทุกคนในประเทศไทยก็จะมีสมุดพกสุขภาพดิจิทัลจากผลงานของ สสส. ในอนาคตคนไทยทุกคนสามารถติดตามตรวจสอบสุขภาพตัวเองได้จากแอพพลิเคชันนี้ และสมุดพกสุขภาพนี้ไม่เพียงแต่ผู้ใช้ที่สามารถเข้าถึงได้ แพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข ไม่ว่าในระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด หรือกรุงเทพมหานครก็สามารถเข้าถึงได้ด้วย เพื่อจะได้ร่วมกันตรวจสอบติดตามสุขภาพของทุกคนได้อย่างทั่วถึง