xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ลั่นพลิกโฉมไทยเป็นชาติแนวหน้าในระยะอันใกล้ มุ่งลดพึ่งพาภายนอก ใช้เทคโนโลยีกับเกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ แจงภารกิจเชียงราย พุ่งเป้าสร้างนักวิจัยลดพึ่งพาจากภายนอก เพิ่มความสามารถแข่งขัน และหนุนใช้เทคโนโลยีกับเกษตรกร ชี้ โครงการเกิดได้จากรัฐลงทุนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตดึงดูดนักลงทุน พลิกโฉมก้าวกระโดดเป็นชาติแนวหน้าในระยะอันใกล้

วันนี้ (21 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแฟนเพจของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ถึงภารกิจที่เชียงรายของนายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาดังนี้ พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ ผมได้เดินทางไปตรวจราชการและติดตามความคืบหน้าของโครงการที่ได้มีข้อสั่งการไปแล้ว ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ จากนโยบายของรัฐบาล ที่กำหนดให้เชียงรายเป็น “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ” (Northern Economic Corridor : NEC - Creative LANNA) ที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรกรรมคุณภาพได้มาตรฐาน มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นด้วยประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมล้านนา และภูมิปัญญาท้องถิ่น และที่สำคัญ คือ มีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย สามารถต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวกีฬาและผจญภัย การท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ทั้งเชิงอนุรักษ์ เชิงสุขภาพ ตลอดจนการท่องเที่ยวประเภท MICE อีกด้วย

โดยผมมีกิจกรรมที่สำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่
1. ผมได้เข้าเยี่ยมชมงาน “มหกรรมสิ่งประดิษฐ์ ICT” ของนักเรียนไทยและนักเรียนญี่ปุ่น Thailand-Japan Student ICT Fair 2022 (TJ-SIF2022) ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงราย ที่เกิดจากความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กับโรงเรียน Super Science High School และสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างนักวิจัย นักประดิษฐ์ และนวัตกรร่วมกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ประเทศไทยจะสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกประเทศ โดยมีแรงงานทักษะสูงที่จะรองรับการพัฒนาสู่โลกอนาคต ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย Thailand 4.0 อีกทั้งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนจากประเทศต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Hi-Tech ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงการอื่นๆ ของไทยได้อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในปีการศึกษา 2565 นี้ กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นั้น มีผลงานอันโดดเด่นที่นำไปสู่การขอจดอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์แล้ว จำนวน 19 รายการ เช่น (1) วอลเปเปอร์กันความร้อนจากเส้นใยผักตบชวา (2) ระบบแปลภาษามือสำหรับคนพิการทางการได้ยิน (3) เฝือกอ่อนจากยางพาราธรรมชาติเสริมแรงด้วยซิลิกาจากชานอ้อย เป็นต้น ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า การส่งเสริมจากรัฐบาลและองค์ความรู้จากประเทศญี่ปุ่น จะทำให้นักเรียนไทยสามารถมีสิ่งประดิษฐ์ที่จดสิทธิบัตรมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป

2. ผมได้ติดตามความคืบหน้า “โครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G” ณ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้พืชมูลค่าสูง ถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ สร้างรายได้ ลดปัญหาความยากจน และสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาการเกษตร ภายใต้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

โดยโครงการนี้ ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมวาล์วรดน้ำ ถังผสมปุ๋ย พัดลมควบคุมอุณหภูมิ ในแปลงเกษตรได้เอง เพียงปลายนิ้วสัมผัสหน้าจอมือถือ ที่มีการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาโดยเฉพาะ ใช้เทคโนโลยีของ IoT, Cloud และ AI บนเครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐาน 5G ซึ่งผมรู้สึกประทับใจกับความสำเร็จของโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงเป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคแล้ว ยังสามารถยกระดับเกษตรกรไทยไปสู่ Smart Farmer ได้อย่างแท้จริง เพิ่มรายได้และลดต้นทุนได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ นั่นคือ การที่รัฐบาลได้ลงทุนกับโครงการระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้วันนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงและครอบคลุมมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ซึ่งทำให้เกิดความน่าดึงดูดในการลงทุนและต่อยอดธุรกิจ ทั้งสำหรับธุรกิจในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศ และปัจจุบันบริการของภาครัฐจำนวนมาก ได้เปิดให้บริการทางออนไลน์แล้ว อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนจำนวนมากที่ไม่ต้องเดินทาง ประหยัดทั้งเงินและเวลา และมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งเมื่อผนวกกับบุคลากรคุณภาพของเยาวชนรุ่นใหม่ จะทำให้ประเทศไทยสามารถ “พลิกโฉมแบบก้าวกระโดด” ไปสู่ประเทศชั้นแนวหน้าของโลกในอนาคตอันใกล้นี้ได้อย่างแน่นอนครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น