“ชลน่าน” ไม่กังวลองค์ประชุมล่ม ชี้ หากกม.สำคัญเข้าฝ่ายค้านยินดีร่วมสังฆกรรม แจง ไม่พบส.ส.พรรคร่วมดินเนอร์ “บิ๊กตู่” ฝาก ปชช.พิจารณาคนย้ายพรรคเพราะอะไร เหน็บ อย่าไปเรียกร้องคนที่ไม่ใช่ส.ส.มาทำหน้าที่ในสภาฯ
วันนี้ (16 ธ.ค.) น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความกังวลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้จะล่มหรือไม่ เนื่องจากส.ส.ลาออกจำนวนมาก ว่า ไม่กังวล เพราะล่มเป็นประจำอยู่แล้ว และที่สำคัญพรรคร่วมฝ่ายค้านเราถือว่าเป็นองค์ประชุมสำคัญ เรื่องที่เป็นความสำคัญของประเทศ ถ้าเสียงข้างมากไม่ทำงาน ไม่มาเป็นองค์ประชุม เราจะใช้กลไกนี้ในการบอกกับพี่น้องประชาชนว่า คุณไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่มีความสำคัญของประเทศ เช่น การมีกฎหมายสำคัญเข้ามา ฝ่ายค้านก็พร้อมที่จะทำงานในหน้าที่อย่างเต็มที่ อะไรที่เป็นเรื่องสำคัญของประเทศเรายินดีร่วมเป็นองค์ประชุม
น.พ.ชลน่าน กล่าวว่า จากที่ปรากฏชื่อว่าจะมีส.ส.ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แล้วยังมีกระแสว่าจะไปพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และมีการไปพบนายกรัฐมนตรีด้วย พท.ได้ตรวจสอบหมดแล้ว ว่าที่ข่าวระบุว่า มี 40 ส.ส.ไปพบนายกรัฐมนตรีและรับประทานอาหารร่วมกัน บริเวณโรงแรมใกล้พรรค รทสช.นั้น เราตรวจสอบหมดแล้วว่า ส.ส.ที่ไปเป็นใคร มีจำนวนเท่าใด พฤติการณ์พฤติกรรมเป็นอย่างไร ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีพรรค พท.ไปร่วมด้วย แต่เป็นส.ส.ในเครือข่ายที่มีท่าทีว่าจะไปอยู่ร่วมกับพรรครทสช.เท่าที่เป็นข่าว
เมื่อถามว่า นอกจากรายชื่อที่ปรากฏแล้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทยมีเกณฑ์ที่จะย้ายออกจากพรรคอีกหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ปรากฏ เท่าที่มีอยู่เป็นรายชื่อที่เราทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ทุกอย่างก็ไม่แน่นอน สิทธิเสรีภาพในการย้ายพรรค ถ้าเป็นไปตามอุดมการณ์ ไปเพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าประชาชนโดยเฉพาะในเขตพื้นที่มีข้อเสนอว่ามาอยู่พรรคนี้ เพราะเราอยากได้นโยบายพรรคนี้หรือคะแนนนิยมพรรคนี้ดี แต่ถ้าย้ายเพราะมีผลตอบแทน มีการแลกเปลี่ยน นี่คือการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบรัฐสภาอย่างใหญ่หลวงที่สุด และการย้ายพรรคในเวลาที่ไม่สมควร เป็นการละทิ้งหน้าที่ที่พึงต้องกระทำต่อพี่น้องประชาชน เรื่องนี้ต้องฝากพี่น้องประชาชนให้พิจารณาและให้ความเป็นธรรมแก่ส.ส.ที่ย้ายด้วยว่าเขาย้ายพรรคเพราะอะไร
เมื่อถามว่า การที่ส.ส.ย้ายในตอนนี้ ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ชัดเจนอยู่แล้ว หน้าที่คือต้องทำหน้าที่ในสภา ขณะนี้มีกฎหมายเยอะมากที่อยู่ในสภา ถ้าลาออกก็หมายความว่ามีเจตจำนงชัดว่า เห็นการเข้าไปสังกัดพรรคใหม่เพื่อจะขอเป็นส.ส.ในปีต่อไป มากกว่าตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน เหมือนไม่ให้เกียรติประชาชนที่เลือกเข้ามา เลยตัองกลับไปถามประชาชนว่าเขาทำเพื่อพี่น้องประชาชนจริงหรือไม่ ประชาชนก็ลองพิจารณาดูว่าสมควรที่จะมอบหมายให้เบาทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ ถ้าย้ายไปแล้วเขาเลือกแสดงว่าประชาชนเห็นด้วย
ส่วนกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่าไม่ใช่เรื่องของนายกรัฐมนตรีที่ต้องควบคุมส.ส.ให้เข้าร่วมประชุมสภา นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงนายกฯ ก็ตอบถูก ในแง่ที่เขาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร การที่จะมาควบคุมส.ส.ในสภาให้ทำนั่นทำนี่ เราก็เคยทักท้วง อำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจนิติบัญญัติในระบบรัฐสภา แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน การก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่โดยมิชอบ ถือว่าไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
“หากนายกฯจะมีอำนาจมาควบคุมผู้แทนได้ เขาก็ควรจะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง และควรจะเป็นส.ส.ด้วย หากเป็นอย่างนี้ถือว่าเขาไม่ควบคุมในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง ไม่ทำหน้าที่ในฐานะเป็นส.ส. ต้องแยกกันอย่างนั้น อย่าไปเรียกร้องคนที่ไม่ได้เป็นผู้แทน ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เขาพูดถูก ในฐานะนายกรัฐมนตรี เขาไม่มีหน้าที่โดยตรง” นพ.ชลน่าน กล่าว