ปธ.ป.ป.ช. เปิดสัมมนาระดมความเห็นพัฒนาระบบตรวจสอบทรัพย์สินหนี้สิน ชูเป็นกลไกสำคัญต้านทุจริต ชี้ ปี 66 ดึงระบบเทคโนโลยีเข้าช่วยหวังตรวจสอบเชิงลึก
วันนี้ (13 ธ.ค.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาระบบตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ที่สำนักพัฒนาระบบตรวจสอบทรัพย์สิน สำนักงาน ป.ป.ช.จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบทรัพย์สินของสำนักงาน และรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของบุคลากร เพื่อนำไปพัฒนาระบบการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรวมทั้งทบทวนความรู้ความเข้าใจในระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการตรวจสอบทรัพย์สิน โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ด้านตรวจสอบทรัพย์สินของสำนักงาน ป.ป.ช.ทั่วประเทศเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 300 คน
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวตอนหนึ่งในการสัมมนา ว่า ภารกิจด้านการตรวจสอบทรัพย์สินมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่างานด้านการปราบปรามการทุจริต และสามารถพัฒนาระบบการตรวจสอบทรัพย์สินให้ความความโปร่งใสและตรวจสอบได้ มีความรวดเร็วในกระบวนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำงานตรวจสอบทรัพย์สินของสำนักงาน ป.ป.ช. มีความสอดรับกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ในประเด็นของการติดตามทรัพย์สินของผู้ที่กระทำทุจริตกลับคืน หรือที่เรียกว่า Asset Recovery ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีความมุ่งหวังให้บุคลากรด้านการตรวจสอบทรัพย์สินปฏิบัติงานอย่างรอบคอบ รวดเร็ว และมีความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. มีผลงานการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน สูงสุดจำนวนกว่า 44,012 บัญชี ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานการตรวจสอบปกติ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. จะมุ่งเน้นการตรวจสอบยืนยันและการตรวจสอบเชิงลึกให้มากขึ้น และจะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพื่อประโยชน์ในการเชื่อมโยงข้อมูล เพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน ตลอดจนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอีกด้วย อาทิเช่น การเปิดรับยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบ ODS ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ยื่นบัญชีผ่านระบบออนไลน์ แบ่งเป็น 3 ระยะ ตามประเภทตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชี ระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 สำหรับผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีตามมาตรา 103 ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.66 สำหรับผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีตามมาตรา 102(1) - (8) และระยะที่ 3 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 สำหรับผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีตามมาตรา 102(9)