ชี้ช่อง! “สุสานสาธารณะ/ฌาปนสถานสาธารณะ” เข้าข่ายต้องถูกประเมิน “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” หรือไม่ ยกเคส “สุสานบางบัวทองมูลนิธิ” ได้รับการยกเว้นเก็บภาษีเฉพาะส่วนที่ใช้เป็นสถานที่ สำหรับเก็บ ฝัง หรือเผาศพ สำหรับประชาชนทั่วไป มิได้รับประโยชน์ตอบแทน เข้าข่ายเป็นที่ดินฯใช้สอยในการประกอบพิธีทางศาสนา ระบุหาก ข้อเท็จจริง ไม่พบเรียกเก็บค่าใช้จ่าย-บำรุงดูแลรักษา
วันนี้ (6 ธ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย เวียนหนังสือคำวินิจฉัย คำปรึกษาหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
จากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กระทรวงการคลัง ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายหลังได้ทำประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติสอบถามไปยังกระทรวงการคลัง
ว่าด้วย กรณีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กรณีบางบัวทองมูลนิธิ ขององค์การบริหารส่วนตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
การตีความคำจำกัดความของคำว่า “สุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ” ตามมาตรา 8(6) แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และแนวทางการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ของกรณีบางบัวทองมูลนิธิขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ละหาร
คณะกรรมการวินิจฉัยว่า บางบัวทองมูลนิธิ ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยได้รับอนุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิชื่อ “สุสานบางบัวทองมูลนิธิ” เป็นนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 2502
ต่อมาภายหลังจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตราสารแก้ไขชื่อมูลนิธิเป็น “บางบัวทองมูลนิธิ” ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่า บางบัวทองมูลนิธิ เป็นมูลนิธิ
หรือ องค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามรายซื่อที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตาม ความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535
จึงไม่ได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีตามมาตรา 8(7) แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ยกเว้นภาษีที่ดินหรือ สิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของมูลนิธิหรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศล
โดยการ “ได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษี” ในทรัพย์สินที่เป็นสุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะนั้น มาตรา 8(6) แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ
กำหนดให้ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. สุสานฯ
กำหนดให้ “สุสานและฌาปนสถานสาธารณะ” หมายความว่า สถานที่ ที่จัดไว้สำหรับเก็บ ฝัง หรือเผาศพ สำหรับประชาชนทั่วไป แต่ไม่รวมถึงสถานที่ที่ใช้สำหรับเก็บศพชั่วคราวในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
ส่วนตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของคำว่า “สุสาน” หมายความว่า สถานที่สำหรับฝังหรือเผาศพ “ฌาปนสถาน” หมายความว่า สถานที่เผาศพ หรือเมรุ “สาธารณะ” หมายความว่า เพื่อประชาชนทั่วไป
ดังนั้น สุสานสาธารณะและฌาปนกิจสาธารณะ จึงได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีเฉพาะส่วนที่ใช้เป็นสถานที่ที่จัดไว้สำหรับเก็บ ฝัง หรือเผาศพสำหรับประชาชนทั่วไป โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทนเท่านั้น
ซึ่งไม่รวมถึง อาคารประกอบพิธี อาคารที่พักของเจ้าหน้าที่ อาคารอำนวยการ อาคารโรงทาน ห้องนํ้า สระน้ำ พื้นที่จอดรถ หรือพื้นที่อื่นที่ใช้อนุเคราะห์สงเคราะห์แก่ญาติของบรรพบุรุษและประชาชนทั่วไป
ดังนั้น ทรัพย์สินของบางบัวทองมูลนิธิ “เฉพาะในส่วนที่ใช้เป็นที่ฝังศพของประชาชนทั่วไป” จึงถือเป็นสุสานสาธารณะ
และหากข้อเท็จจริง ปรากฏว่า บางบัวทองมูลนิธิ ไม่ได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายและบำรุงดูแลรักษา และกรณีมีการรับบริจาคหากเป็นการรับบริจาคตามศรัทธาของแต่ละบุคคล โดยไม่เป็นเงื่อนไขของการให้บริการ
“ก็อาจเข้าข่ายที่ ได้รับการยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีตามมาตรา 8(6) แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ สำหรับ ทรัพย์สินที่ใช้เป็นพื้นที่ใช้สอยในการประกอบพิธีทางศาสนา ใช้เป็นที่จอดรถ และเป็นพื้นที่อนุเคราะห์สงเคราะห์แก่ญาติของบรรพบุรุษ และประชาชนทั่วไป ที่ใช้ในการประกอบการเกษตร”
ไม่เข้าข่ายได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี ต้องเสียภาษีตามประเภทการใช้ ประโยชน์นั้น.