xs
xsm
sm
md
lg

“สรรพากร” ชงตำรวจฟันแก๊งโกง VAT มีชื่อ “บิ๊กท้องถิ่นแปดริ้ว” ร่วมด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สรรพากร” ร้อง สภ.สนามชัยเขต ดำเนินคดี บ.ค้าของเก่า-เหล็ก ในพื้นที่ข้อหาใบกำกับภาษีปลอม โกง VAT ทำสรรพากรเสียหายกว่า 21 ล้านบ. รวมเบี้ยปรับแล้วกว่า 75 ล้าน พบ 1 ใน 2 กรรมลงนามเป็น “บิ๊กการเมืองท้องถิ่นแปดริ้ว” ที่กำลังเตรียมตัวลงสมัคร ส.ส. เผยจำเลยเข้าพบ ตร.ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หวั่นคดีอืดปล่อยจำเลยลอยนวล เหตุใกล้ปมดอายุความ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย.65 สำนักงานสรรพากรภาค 5 ได้มีหนังสือถึง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรสนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อ บริษัทค้าของเก่าและเหล็กรายหนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมกรรมการผู้มีอำนาจลงนามจำนวน 2 ราย จากพฤติการณ์นำใบกำกับภาษีปลอม และใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี เมื่อช่วงปี 2556 มูลค่ากว่า 21 ล้านบาท เมื่อรวมกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เป็นจำนวนเงิน 75 ล้านบาท

สำหรับพฤติการณ์ของบริษัทดังกล่าว สำนักสรรพกรพื้นที่ฉะเชิงเทรา ได้ตรวจสอบประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษี ม.ค.-ธ.ค.56 พบว่า บริษัทดังกล่าวไม่มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 82/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร มาหักในการคำนวณภาษี โดยบริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีเดือน ม.ค.-ธ.ค.56 แสดงยอดซื้อทั้งสิ้นจำนวน 351,974,366 บาท ภาษีซื้อจำนวน 24,614,605.53 บาท โดยยอดซื้อส่วนใหญ่เป็นการซื้อสินค้าประเภทเศษเหล็กจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 11 ราย มูลค่ารวมจำนวน 334,195,366.40 บาท ภาษีซื้อจำนวน 23,673,675.73 บาท

กรณีนี้ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ฉะเชิงเทรา ได้สอบยันใบกำกับภาษีซื้อเพื่อตรวจสอบความถูกต้องเฉพาะประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีเดือน ม.ค.-ธ.ค.56 พบว่า บริษัทฯได้นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี จำนวน 9 ราย มาใช้เครดิตภาษี ประกอบกับบริษัทฯ ชำระค่าสินค้าที่
มีมูลค่าสูงเป็นเงินสด โดยไม่มีเอกสารหลักฐานอื่นมาแสดง และไม่สามารถพิสูจน์การชำระเงินค่าสินค้า จึงถือได้ว่าบริษัทฯ ไม่มีการซื้อสินค้าจริง และใบกำกับภาษีซื้อที่บริษัทฯ นำมาใช้เครดิตภาษีไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี จึงถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอมตามมาตรา 89 (7) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทฯ นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้เครดิตภาษีสำหรับเดือนภาษี ม.ค.-ธ.ค.56 รวม 12 เดือนภาษี เป็นกรณีบริษัทฯ นำภาษีซื้อต้องห้ามมาใช้ในการคำนวณภาษีโดยมีเจตนาเพื่อให้มีภาษีซื้อสูงกว่าความเป็นจริง และมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเสียภาษีมูลค่าเพิ่มน้อยลงกว่าที่จะต้องเสีย ส่งผลให้ กรมสรรพากร ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 21,712,252.20 บาท

เจ้าพนักงาน สำนักงานสรรพากรพื้นที่ฉะเชิงเทรา ได้นำส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มลงวันที่ 2 มี.ค.59 รวมกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เป็นจำนวนเงิน 75,056,236 บาท ไปยังบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งบริษัทฯ ยื่นคำอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีอากร เมื่อวันที่ 4 เม.ย.59 และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ โดยบริษัทฯ มิได้ฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางแต่อย่างใด ปัจจุบันบริษัทฯ ค้างชำระภาษีอากรเป็นเงินจำนวน 73,886,816.53 บาท (ไม่รวมเงินเพิ่มที่คำนวณภายหลัง) แต่ในระหว่างการเร่งรัดจัดเก็บภาษีอากรค้าง ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัทฯ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.64 ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.2230/2564

ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีความผิดตามมาตรา 90/4 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ฐานเจตนานำใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี และ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามจำนวน 2 ราย (ขณะกระความผิด) มีความผิดตามมาตรา 90/5 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด ตามมาตรา 83

“จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินคดีอาญากับบริษัท ……………………….. จำกัด และ 1.นาย……………………….. และ 2.นาย……………………….. กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ซึ่งเป็นตัวการร่วมในขณะความผิดเกิด ในฐานะส่วนตัว” หนังสือสำนักงานสรรพากรภาค 5 ระบุ

ทั้งนี้ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ฉะเชิงเทรา ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ตามคดีที่ 824/2565 โดยกล่าวหาว่า "ร่วมกันนำใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไป
ใช้ในการเครดิตภาษี" อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (7) ,90/5
หลังรับคำร้องทุกข์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามจำนวน 2 ราย (ขณะกระความผิด) ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 20 พ.ย.65 ทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วน บริษัทฯ ปรากฎว่า ผู้ที่ถูกระบุชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯคนสุดท้าย ก็ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อ
กล่าวหา โดยยืนยันว่าไม่เคยรู้จักบริษัทฯ และไม่ได้ขอจดทะเบียนเป็นกรรมการบริษัทฯมาก่อน

แหล่งข่าวจากสำนักงานสรรพากรฉะเชิงเทรา ระบุว่า ขณะนี้มีความกังวลหากการดำเนินคดีเป็นไปด้วยความล่าช้า ผู้กระทำความผิดอาจจะลอยนวล เนื่องจากคดีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 และกำลังจะหมดอายุความในช่วงต้นปี 2566 นี้

รายงานข่าวแจ้งว่า 1 ใน 2 กรรมการผู้มีอำนาจลงนามที่ถูกแจ้งดำเนินคดีนั้น ปัจจุบันเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ฉะเชิงเทรา และเพิ่งลาออกจากตำแหน่งใหญ่ในสภา อบจ. โดยมีกระแสข่าวว่า เตรียมตัวลงสมัคร ส.ส.ฉะเชิงเทรา ในการเลือกตั้งครั้งหน้า รวมทั้งยังมีรายงานว่า เครือข่ายดังกล่าวเป็นเครือข่ายเดียวกับขบวนการลอบทิ้งกากสารพิษที่มาจากน้ำมันปิโตรเลียมที่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียง และเป็นเครือข่ายเดียวกับขบวนการลักลอบค้าน้ำมันในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งถูกจับกุมพร้อมน้ำมันกว่า 4 แสนลิตร กลางทะเลอ่าวไทย เมื่อช่วงเดือน ต.ค.64 ที่ผ่านมา.


กำลังโหลดความคิดเห็น