คณะผู้แทนสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ประเทศไทย นำภาคเอกชนจากบริษัทต่างๆ ของยุโรป เข้าพบ “บิ๊กตู่” ชื่นชมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล พร้อมร่วมมือเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
วันนี้ (29 พ.ย.) นายอนุชา บูรพขัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังคณะผู้แทนสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ประเทศไทย (European Association for Business and Commerce: EABC) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีที่ได้พบกับเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป รวมทั้งคณะนักธุรกิจจาก EU-ABC และ EABC อีกครั้ง ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของไทยและหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียน โดยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 ของไทย และมีการลงทุนอันดับที่ 3 ของไทย นอกจากนี้ ไทยและสหภาพยุโรปมีค่านิยมสากลร่วมกันหลายประการรวมถึงมีเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจดิจิทัล หวังว่า ภาคเอกชนจากสหภาพยุโรปจะใช้ประโยชน์จากความเป็นหุ้นส่วนนี้ในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่ายให้เพิ่มพูนขึ้น
ด้าน เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ EU-ABC ได้นำภาคเอกชนของยุโรปมาพบหารือกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้ เพื่อหารือถึงโอกาสในการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิก EU-ABC และ EABC กับภาครัฐของไทย รวมทั้งสะท้อนถึงความสนใจของภาคเอกชนยุโรปที่สนใจขยายความร่วมมือการค้าและการลงทุนในไทย ทั้งนี้ ไทยกับสหภาพยุโรปมีพลวัตด้านความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ครอบคลุมทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่ายในปีนี้เพิ่มขึ้น แต่ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพและโอกาสในการเพิ่มพูนมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก สหภาพยุโรปยืนยันความร่วมมือกับไทยเพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้าน ประธาน EU-ABC กล่าวว่า การมาเยือนไทยครั้งนี้อยู่ในเวลาที่เหมาะสม ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย ภาคเอกชนยุโรปมองว่าการรื้อฟื้นการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปจะช่วยผลักดันการค้าและการลงทุนของทั้งไทยและยุโรปให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นโอกาสนี้ EU-ABC ยังชื่นชมในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน EU-ABC ยินดีร่วมมือกับไทยผลักดันการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ BCG เพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย
นายอนุชา กล่าวว่า ระหว่างการพูดคุย นายกรัฐมนตรีและคณะ EU-ABC ต่างเห็นพ้องกันว่า วิกฤตโควิด-19 และภาวะความขัดแย้งระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก นายกรัฐมนตรียืนยันว่าประเทศไทยยังคงมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าพอใจ ทั้งในแง่ของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ สัดส่วน หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงสร้างความเชื่อมั่นในค่าเงินบาท รวมถึงในช่วงประชุมเอเปค ทาง IMF ก็ยังมองว่า ไทยมีศักยภาพ และมีแนวโน้มของเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้านผู้อำนวยการบริหาร EU-ABC กล่าวชื่นชมรัฐบาลในการจัดการกับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และดูแลนักธุรกิจยุโรปที่อยู่ในไทยได้เป็นอย่างดี ยืนยันร่วมมือกับรัฐบาลผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้เพิ่มพูน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 2566 รัฐบาลมุ่งมั่นจะสานต่อนโยบายที่จะช่วยลดภาระให้กับภาคประชาชนและภาคเอกชนในไทยที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก พร้อมกับเน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทย รวมถึงมาตรการสำคัญอย่างการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ จึงขอเชิญให้สมาชิก EU-ABC และ EABC พิจารณาเข้าร่วมลงทุนในพื้นที่เขต EEC โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ การลดคาร์บอนและดิจิทัลที่สหภาพยุโรปมีความเชี่ยวชาญ
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อรองรับโมเดล BCG ว่า รัฐบาลได้เร่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและเอกชน มีการปลดล็อกข้อกฎหมาย และใช้เครื่องมือต่างๆ อาทิ กลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิต การใช้มาตรการทางภาษี การส่งเสริมฉลาก BCG การคำนวณ carbon footprint การให้สิทธิประโยชน์แก่การลงทุนในอุตสาหกรรม BCG กลไกการเงินสีเขียว รวมทั้งผนวกเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับทิศทางสู่นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน นโยบายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และพลังงานทดแทน ซึ่งภาคเอกชนยุโรปยินดีหารือเพิ่มเติมถึงรายละเอียด และพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมนวัตกรรมและการวิจัยด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่ง EU-ABC ชื่นชมรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายที่เน้นการเติบโตเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และม่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทาง ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปยุโรปสีเขียวของสหภาพยุโรป (European Green Deal)
นายกรัฐมนตรี กล่าวเชิญชวนให้ภาคเอกชนยุโรปใช้ประโยชน์จาก EEC ซึ่งรัฐบาลได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เชื่อมโยงกันเป็นระบบโครงข่ายโลจิสติกส์ ซึ่งหากแล้วเสร็จจะเชื่อมโยงกับเครือข่ายการคมนาคมทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศในภูมิภาคเอเชียทั้งฝั่งจีนและอินเดีย ซึ่งภาคเอกชนยุโรปมองว่า ไทยมีความสำคัญในภูมิภาค และชื่นชมรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะในสาขา รถ EV ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งมีความน่าสนใจ
“นายกรัฐมนตรี ยืนยันการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคยุโรปมากยิ่งขึ้น และยินดีในการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนอย่างเต็มที่ภายใต้กรอบกฎหมายและระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง และจะพิจารณาข้อเสนอโครงการลงทุนบนหลักธรรมาภิบาลที่ดี มีความโปร่งใส เพื่อให้นักลงทุนจากยุโรปสามารถแข่งขันกับนักลงทุนจากชาติอื่นๆ ได้อย่างเท่าเทียม และขอแสดงความยินดีที่จะได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ช่วงกลางเดือนธันวาคม และจะเข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวัน (C-Suite Luncheon) ระหว่างการประชุม ASEAN-EU Business Summit ซึ่งจะเป็นโอกาสในการรับฟังความเห็น และหารือถึงช่องทางที่จะสามารถสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างสองภูมิภาค” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว