วันนี้(28 พ.ย.)จากกรณีการคัดค้านโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อแปรสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้า ต.ศรีบัวบาน ที่จะมีการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ ม.1 บ้านศรีบัวบาน และ ม. 11 บ้านดอนแก้ว ต.ศรีบัวบาน อ.เมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ลำพูน ทำให้มีการยื่นเอกสารคัดค้านไปยังคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 65 จึงมีการจัดเวทีสัมนาเรื่องบ่อขยะดังกล่าวขึ้นที่ หอประชุมสล่าเลาเลือง โดยมี นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธามณี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางและแก้ไขปัญหาภัยจากขยะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน พร้อมด้วย นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล ที่นำว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เข้าร่วมรับฟังปัญหาในพื้นที่ทั้งสามจังหวัดภาคเหนือด้วย
นายนิติพล กล่าวว่า ปัญหาขยะถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบและเป็นประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญมาก เนื่องจากปริมาณขยะที่ระบายออกไม่ได้สัดส่วนสมดุลกับการกำจัดทำลายในแต่ละวันจนเกิดเป็นขยะสะสมหรือภูเขาขยะ ดังนั้น ปัญหาของ ต.ศรีบัวบาน จึงไม่ใช่ปัญหาของพื้นที่เดียว แต่จะเป็นภาพสะท้อนของปัญหาขยะที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกมากมายในประเทศไทย ซึ่งมีจุดที่อ่อนไหวร่วมกัน คือหากไม่สามารถสร้างโมเดลการบริหารจัดการขยะที่ชุมชนเชื่อมั่นได้ ความขัดแย้งก็จะปรากฏขึ้นทุกพื้นที่
“สิ่งที่ผมและเพื่อน ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาขยะ รวมถึง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคที่มาด้วยกันได้รับฟังในหลายจังหวัดตลอดช่วงหลายวันนี้ เช่น เสียงสะท้อนความกังวลจากพื้นที่ เนื่องจากโรงไฟฟ้าขยะจะถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ป่าแม่ตีบแม่สาร ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำ และเป็นแหล่งเก็บหาของป่าเพื่อการยังชีพ หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะพื้นที่บริเวณนี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีข้อกังวลต่อผลกระทบอื่นๆที่ตามมา ไม่ว่ากลิ่นเหม็น น้ำเน่าเสีย และมลพิษต่างๆที่จะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม”
นายนิติพล กล่าวต่อไปว่า หลังจากได้รับฟังเสียงสะท้อน พรรคก้าวไกลในฐานะประธานอนุคณะกรรมาธิการฯ จะนำผลการประชุมนำเข้าสู่ที่ประชุมอนุคณะกรรมาธิการฯ เพื่อเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแก้ปัญหาและหาทางออกในเรื่องนี้และสร้างต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ ต่อไป
“ปัญหาขยะล้นประเทศเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เป็นภัยเงียบที่จะย้อนกลับมาทำลายระบบนิเวศและสร้างความเสียหายให้กับพวกเราได้อย่างมากมาย อย่างกรณีล่าสุดที่จังหวัดชลบุรี เราเพิ่งสูญเสียเต่าตนุไปอีกตัวหนึ่งเนื่องจากขยะทะเล โดยพวกมันได้กินหมุดจากขยะกระทงที่เราบอกว่าเพื่อขอขมาธรรมชาติแล้วเราก็พรากชีวิตมันไปด้วยมือของเราเอง เช่นเดียวกับ เชือกไนลอน อวน และแผ่นพลาสติกที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลอีกมากมาย เหล่านี้เป็นความสูญเสียอันเนื่องมาจากการที่พวกเราให้ความสำคัญกับปัญหาขยะน้อยเกินไป ขณะเดียวกัน เราก็มีฝ่ายนโยบายที่หากินกับขยะมากเกินไป พวกเขาเน้นแต่จะสร้างเชิงปริมาณเพื่อหากินกับงบก่อสร้างและงบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนธุรกิจสีเขียวซึ่งเขียวไม่จริง และไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ที่จะมีการตั้งโรงงานขยะได้เลย เนื่องจากถูกออกแบบให้ออกใบอนุญาตได้ง่าย แต่กระบวนการตรวจสอบมีน้อย ทั้งยังไม่มีกลไกความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังขาดสิ่งสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ กรณีของ ต.ศรีบัวบาน จ.ลำพูน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การสร้างโรงไฟฟ้าขยะไม่มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอ จึงนำมาสู่การคัดค้านดังที่ปรากฏ”
นายนิติพล ยังทิ้งท้ายว่า แนวคิดขยะเกิดที่ไหนก็ต้องจัดการที่นั่นเป็นแนวคิดที่ดี แต่ต้องอาศัยทั้งความเข้าใจและความจริงใจอย่างมากในการบริหารจัดการ จะต้องมีกระบวนการที่โปรงใสตรวจสอบได้ตั้งแต่เริ่มการสร้าง และนอกจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญแล้ว การสร้างองค์ความรู้เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและมีส่วนในการทำให้ปัญหาขยะเบาบางลงก็มีความสำคัญก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะไม่เช่นนั้นต่อให้สร้างโรงงานขยะเท่าไหร่ก็ไม่พอและจะไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะจัดการขยะที่มีได้ สิ่งที่ตนพยายามผลักดันมาตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ คือการลดการใช้ขยะพลาสติกซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมความเคยชิน จำเป็นต้องสร้างพฤติกรรมใหม่และหาทางเลือกใหม่ๆเข้าไปให้ประชาชน เช่น การใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้เข้ามาแทนที่ อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นคือ การแยกขยะให้เป็น เพราะจะเป็นการลดการเพิ่มขยะตั้งแต่ต้นทาง ขยะเปียกไม่ควรถูกนำมารวมกับขยะอื่น เพราะจะทำให้เสียเวลามากขึ้นในการคัดแยกและทำให้เน่าเหม็น แต่หากแยกมาตั้งแต่ต้นทางแล้ว ส่วนที่จะไปกองเพื่อรอการกำจัดทำลายหรือนำไปรีไซเคิ้ลที่โรงงานขยะก็จะน้อยลง การจัดการขยะก็จะมีประสิทธิภาพขึ้นจนขึ้นขั้นที่ไม่ก่อมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม