รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้ เศรษฐกิจฟื้นตัว “พล.อ.ประยุทธ์” บริหารถูกทาง โชว์ S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ระดับมีเสถียรภาพ จากปัจจัยท่องเที่ยวโตเกินคาด ประมาณ 10 ล้านคน ในปี 65 ชี้ EEC การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
วันนี้ (26 พ.ย.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทย ที่ได้ภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาชาวโลกและจะดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจาก S&P ถือเป็นบริษัทในเครือของ S&P Global Inc.สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า โดยจากรายงานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ระบุเหตุผลสำคัญที่ S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยมาจากการคลี่คลายของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตลอดจนการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย และการที่ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างทั่วถึง เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดย S&P คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 428,000 คน ในปี 2564 เป็นประมาณ 10 ล้านคน ในปี 2565 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ และเศรษฐกิจไทย (Real GDP) จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 2.9 ในปี 2565 เป็นเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ในช่วงปี 2565-2568
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ การสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัจจัยที่ S&P มองว่า จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ขณะที่ภาคการคลังมีเสถียรภาพ จากการลดการใช้จ่ายภาคการคลังตามสถานการณ์การระบาด ที่คลี่คลาย รวมทั้งการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งหนี้ภาครัฐบาลสุทธิและต้นทุนการกู้เงินมีเสถียรภาพ จึงทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น ขาดดุลงบประมาณลดลง และหนี้ภาครัฐบาลจะทยอยลดลงในระยะ 3 ปีข้างหน้า
ส่วนภาคการเงินต่างประเทศ พบว่า แม้ประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์การระบาดที่คลี่คลายส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติ ภาคการท่องเที่ยวของประเทศฟื้นตัว อีกทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศและสภาพคล่องของไทยยังอยู่ในระดับสูงและแข็งแกร่ง S&P คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมา เกินดุลเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ของ GDP ในปี 2566-2568
“จากมุมมองของ S&Pสะท้อนว่า การดำเนินการมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาถูกทางทำให้เศรษกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม และวางรากฐานสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต การเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐบาล อยู่ในสายตาของชาวโลก ซึ่งจะเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่ ในโครงการหลักๆ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่จะนำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายความเจริญและพัฒนาอย่างยั่งยืน” น.ส.ทิพานัน กล่าว