xs
xsm
sm
md
lg

จ่อโอนเพิ่มคน สธ.3.8 พัน-522 รพ.สต.ไป 14 อบจ.เฉพาะ “นราฯ-ยะลา” ขอโอนนับร้อยแห่ง ขรก.-ลูกจ้างเกือบพันคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปี 67 จ่อโอน “รพ.สต.” เพิ่มอีก 522 แห่ง ไป อบจ. 14 จังหวัด พบ “บุคลากร สธ.” พาเหรด 3,862 คน เป็นข้าราชการ 1,867 คน ลูกจ้าง 1,261 คน “ชลบุรี” ขอถ่ายโอนมากที่สุด 118 แห่ง 872 คน “นราธิวาส-ยะลา” ขอเข้าเกณฑ์ ถ่ายโอน 95 แห่ง บุคลากรเกือบพันคน

วันนี้ (25 พ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ความคืบหน้าตามนโยบายการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในเขตจังหวัด ภายใน 3 ปี โดนเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 นั้น

ล่าสุด คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ เตรียมรายงาน คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สำนักงาน ก.ก.ถ.) ต้นเดือน ธ.ค.นี้ ว่า มี อบจ. 14 แห่ง เตรียมเข้ารับการประเมินความพร้อมเพื่อรับการ ถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ในเขตจังหวัดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

พบข้อมูล อบจ. ซึ่งแจ้งความประสงค์ขอรับการประเมิน ความพร้อมฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมทั้งสิ้น 15 จังหวัด ได้แก่ อบจ.ลําปาง อบจ.แม่ฮ่องสอน อบจ.เลย อบจ.ลพบุรี อบจ.ชัยนาท อบจ.อ่างทอง อบจ.สระบุรี

อบจ.สุรินทร์ อบจ.จันทบุรี อบจ.ชลบุรี อบจ. เพชรบุรี อบจ.ระนอง อบจ.ตรัง อบจ.ยะลา และ อบจ.นราธิวาส

ขณะที่ อบจ.อ่างทอง ได้แจ้งขอชะลอการรับโอน สอน. และ รพ.สต. สําหรับปี 2567 ไปก่อน

พบว่า ปี 2567 จะมี สอน. และ รพ.สต. ถ่ายโอนรวมทั้งสิ้น 522 แห่ง เป็น รพ.สต.ขนาดเล็ก 52 แห่ง ขนาดกลาง 104 แห่ง และขนาดใหญ่ 46 แห่ง เข้ารับการประเมิน เพื่อโอนไปยัง อบจ. 14 จังหวัด

มีจํานวนบุคลากร ที่ขอถ่ายโอน รวมทั้งสิ้น 3,862 ราย เป็นข้าราชการ 1,867 ราย ลูกจ้าง 1,261 ราย

พบว่า จ.ชลบุรี มี รพ.สต. ขอถ่ายโอนมากที่สุด 118 แห่ง รวม 872 ราย จ.จันทบุรี ขอถ่ายโอน 92 แห่ง รวม 484 ราย จ.ลำปาง ขอถ่ายโอน 67 แห่ง รวม 413 ราย

ขณะที่ จ.ชายแดนภาคใต้ เช่น จ.นราธิวาส ขอถ่ายโอน 57 แห่ง รวม 619 ราย จ.ยะลา ขอถ่ายโอน 38 แห่ง รวม 215 ราย

ที่ผ่านมา มี อบจ. ผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จํานวน 49 จังหวัด และแจ้งความประสงค์ขอรับการถ่ายโอนไปยัง อบจ. รวมทั้งสิ้น 43 จังหวัด

“เป็น สอน. และ รพ.สต. รวมทั้งสิ้น 714 แห่ง จํานวนบุคลากร รวมทั้งสิ้น 5,080 ราย”

สำหรับข้อมูล เมื่อ 1 ต.ค. 65 (ปีงบประมาณ 66) รพ.สต.จำนวน 3,264 แห่ง ใน 49 จังหวัด ที่ถ่ายโอนไป อบจ. ดังนี้

1. กลุ่มจังหวัดที่ รพ.สต. ถ่ายโอน 100% ประกอบด้วย ร้อยเอ็ด 229 แห่ง, ขอนแก่น 248 แห่ง , ปราจีนบุรี 94 แห่ง , มุกดาหาร 78 แห่ง , หนองบัวลำภู 83 แห่ง และสุพรรณบุรี 174 แห่ง

2. กลุ่มจังหวัดที่ รพ.สต. ถ่ายโอน 50-90% ประกอบด้วย นครราชสีมา 182 แห่ง , มหาสารคาม 128 แห่ง , อำนาจเจริญ 71 แห่ง , สกลนคร 144 แห่ง , น่าน 95 แห่ง, พะเยา 55 แห่ง, เชียงราย 118 แห่ง , แพร่ 70 แห่ง , พิจิตร 68 แห่ง , กำแพงเพชร 74 แห่ง , นครสวรรค์ 99 แห่ง , กาญจนบุรี 97 แห่ง , ราชบุรี 79 แห่ง , สุราษฎร์ธานี 97 แห่ง , ภูเก็ต 12 แห่ง และสมุทรสาคร 37 แห่ง

3. กลุ่มจังหวัดที่ รพ.สต. ถ่ายโอน น้อยกว่า 50% ประกอบด้วย ศรีสะเกษ 117 แห่ง, อุบลราชธานี 54 แห่ง, ยโสธร 48 แห่ง , กาฬสินธุ์ 51 แห่ง, นครพนม 15 แห่ง , ชัยภูมิ 65 แห่ง , เพชรบูรณ์ 62 แห่ง พิษณุโลก 37 แห่ง, อุตรดิตถ์ 40 แห่ง, เชียงใหม่ 62 แห่ง, ลำพูน 11 แห่ง, สุโขทัย 18 แห่ง, ตาก 18 แห่ง, อุทัยธานี 26 แห่ง, นครปฐม 36 แห่ง, ประจวบคีรีขันธ์ 16 แห่ง , ชุมพร 17 แห่ง กระบี่ 30 แห่ง , สตูล 3 แห่ง ,สงขลา 23 แห่ง, ปัตตานี 32 แห่ง , พัทลุง 33 แห่ง, นครศรีธรรมมราช 36 แห่ง , สิงห์บุรี 11 แห่ง, นนทบุรี 28 แห่ง, ปทุมธานี 13 แห่ง และระยอง 40 แห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น