xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชี้ จนท.ล่อซื้อประเวณี ละเลยให้สื่อทำข่าว ละเมิดสิทธิมนุษยชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ล่อซื้อประเวณี ละเลยให้สื่อเผยแพร่ข่าวการจับกุม ซ้ำตรวจหาสารเสพติดแบบเหมารวมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (24 พ.ย.) น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเดือน มี.ค. 65 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนอ้างว่า เมื่อประมาณเดือน มิ.ย. 60 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรบางละมุง จ.ชลบุรี เข้าตรวจค้นสถานบริการแห่งหนึ่งภายในซอยวัดบุญกาญจนาราม อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เนื่องจากได้รับแจ้งว่า มีการลักลอบค้าประเวณี จึงส่งสายลับเข้าไปล่อซื้อบริการและจับกุมผู้กระทำความผิด จากนั้นได้ให้พนักงานของร้านและผู้ใช้บริการไปตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด ซึ่งผลการตรวจปัสสาวะไม่พบสารเสพติด ผู้ร้องเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นไม่เหมาะสม โดยให้สื่อมวลชนบันทึกภาพของผู้ถูกจับกุม และมีผู้ถูกจับกุมบางรายเป็นเพศหญิงที่อยู่ในสภาพเปลือยกายท่อนบน ไม่สวมเสื้อผ้า รวมทั้งการตรวจหาสารเสพติดยังกระทำในลักษณะเหมารวมมิใช่การตรวจโดยมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมีพฤติการณ์เสพยาเสพติด นั้น 

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นการตรวจค้นจับกุมผู้กระทำความผิดโดยวิธีการล่อซื้อประเวณี ต้องเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานจากผู้กระทำความผิดที่ไม่ได้มีการล่อลวงหรือบังคับให้ผู้นั้นกระทำความผิด แต่เกิดจากการที่ผู้นั้นมีการกระทำผิดอยู่ก่อนแล้ว แม้กรณีนี้จะเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถใช้วิธีการอื่นแทนการล่อซื้อ เช่น การเข้าไปแสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริงให้เพียงพอต่อการดำเนินคดี การใช้ภาพที่บันทึกจากกล้องวิดีโอเป็นพยานหลักฐาน เป็นต้น โดยเฉพาะในความผิดที่เกี่ยวกับเพศอันมีลักษณะที่อ่อนไหวและเสี่ยงที่การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐจะไปกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องเกินสมควรแก่กรณีได้ ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกรณีนี้เข้าไปล่อซื้อประเวณีและเข้าจับกุมเมื่อผู้ต้องหาที่เปลือยกายนั้น แม้จะมีกฎหมายและแนวคำพิพากษาของศาลฎีกากำหนดให้สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกจับกุมเกินสมควรแก่กรณี อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่วนประเด็นการให้สื่อมวลชนติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แม้ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ได้นำหรืออนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมในการตรวจค้น จับกุม จนนำไปสู่การเผยแพร่ภาพข่าว แต่การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนจะต้องยึดถือตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน และหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลในคดีอาญาที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ดังนั้น การนำเสนอข่าวในลักษณะดังกล่าวจึงกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในเกียรติยศและชื่อเสียงที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้เกินสมควรแก่กรณี จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน

สำหรับการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด แม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันเกิดเหตุ จะเป็นการดำเนินการของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในการดูแลรักษาความเรียบร้อยในพื้นที่ที่รับผิดชอบ และเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 และ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น และแม้การตรวจหาสารเสพติดจะไม่พบว่ามีผู้เสพยาเสพติดให้โทษตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่การตรวจหาสารเสพติดดังกล่าวมีการกระทำในลักษณะเป็นการเหมารวมกับกลุ่มบุคคลที่เป็นพนักงานและผู้ใช้บริการในสถานที่ดังกล่าว โดยปราศจากความยินยอมและไม่ปรากฏพยานหลักฐานอันมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลใดเสพยาเสพติด จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน

ที่ประชุม กสม.จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบ

โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย กำหนดมาตรการหรือแนวทางในการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าประเวณี ด้วยวิธีการอื่นแทนการล่อซื้อ เพื่อมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนลักษณะเดียวกันกับคำร้องนี้

นอกจากนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำและกำชับให้เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้น จับกุม พึงหลีกเลี่ยงให้บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง บันทึกและเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ในขณะที่มีปฏิบัติการตรวจค้นหรือจับกุม ทั้งนี้ ตามมาตรการหรือแนวทางที่ กสม. เคยเสนอไว้ในรายงานผลการตรวจสอบก่อนหน้าเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเน้นย้ำและกำชับเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ดำเนินการตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่บังคับใช้ในปัจจุบันอย่างเคร่งครัด กรณีมีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายว่าบุคคลนั้นเสพยาเสพติดให้โทษ ทั้งนี้ ตามมาตรการหรือแนวทางที่ กสม. เคยเสนอไว้ในรายงานผลการตรวจสอบก่อนหน้าเมื่อกันยายน 2565


กำลังโหลดความคิดเห็น