"ประยุทธ์" ร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 17 ย้ำ 3 ประการ เพื่อร่วมกันกำหนดอนาคตของภูมิภาคที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้ทุกฝ่ายสามารถบรรลุเป้าหมายร่วม
วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2565) เวลา 10.40 น. ณ ห้อง Ballroom III ชั้น Lobby (L) โรงแรมสกคา พนมเปญ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ครั้งที่ 17 โดยมีผู้นำหรือผู้แทนจากประเทศที่เข้าร่วม EAS 17 ประเทศ เลขาธิการอาเซียน นายชาร์ล มีแชล ประธานคณะมนตรียุโรป (President of the European Council) และนายจาง หมิง เลขาธิการองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation - SCO) เข้าร่วมประชุม เพื่อทบทวนความร่วมมือในรอบปีที่ผ่านมา กำหนดทิศทางความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยสนับสนุนให้จัดการกับความท้าทายร่วมกัน ตามแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชา เพื่อกำหนดอนาคตของภูมิภาคที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดย EAS ถือเป็นส่วนสำคัญของสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ในฐานะเวทีหารือเชิงยุทธศาสตร์ระดับผู้นำที่เปิดกว้างและสร้างสรรค์ ซึ่งทุกประเทศล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพของภูมิภาค และโลกโดยรวม
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำ 3 ประการ เพื่อกำหนดอนาคตของภูมิภาคที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนี้
ประการแรก บทบาทและคุณค่าของ EAS ที่เปิดโอกาสให้มีกระบวนการหารือและการเจรจาอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่ง ไทยเชื่อว่า จะนำไปสู่การสร้างสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมสันติภาพที่ถาวรและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และเรียกร้องให้ทุกประเทศปรับกระบวนทัศน์ไปสู่การหันหน้ามาร่วมมือกัน ซึ่งทุกประเทศมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ได้ตามความถนัดและศักยภาพของแต่ละประเทศ
ทั้งนี้ ไทย ยังมุ่งเน้นการรับมือกับประเด็นท้าทายร่วมกัน และผลักดันความร่วมมือแห่งอนาคต อาทิ การพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจและเทคโนโลยีดิจิทัล อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือบีซีจี ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่ไทยผลักดันในกรอบเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ด้วย
ประการที่สอง ยึดมั่นในหลักการสำคัญร่วมกัน อาทิ ความเป็นแกนกลางของอาเซียน การเปิดกว้าง การมีส่วนร่วม และหลักการสามเอ็ม กล่าวคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน
ประการที่สาม การแก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติ คือหนทางสู่การป้องกันการขยายตัวของปัญหา ลดความตึงเครียด และทางออกสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยไทยยึดมั่นและส่งเสริมให้ฝ่ายต่าง ๆ เคารพและดำเนินการใด ๆ บนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงประเด็นคาบสมุทรเกาหลี
นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการขับเคลื่อนฉันทามติ 5 ข้อเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา และพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยให้ประชาชนเมียนมากว่า 54 ล้านคน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมยืนยันความปรารถนาให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน และพร้อมที่จะสานต่อบทบาทที่สร้างสรรค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ประการสุดท้าย ท่านนายกฯ ได้เชิญชวนให้ผู้นำเข้าร่วมการประชุมนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนที่ประเทศไทยจะจัดขึ้นในต้นปี 2566
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมต่าง ๆ ทั้งสิ้น 26 ฉบับ โดยเอกสารผลลัพธ์ที่ผู้นำอาเซียนรับรอง ประกอบด้วย เอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดอาเซียน 16 ฉบับ และในกรอบอื่น ๆ กับคู่เจรจา 10 ฉบับ โดยมีเอกสารสำคัญ ได้แก่ แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนในโอกาสครบรอบ 55 ปีของอาเซียน (ASEAN Leaders’ Statement on the 55th Anniversary of ASEAN) และแถลงการณ์วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วย “อาเซียน เอ.ซี.ที. : รับมือความท้าทายร่วมกัน” (ASEAN Leaders’ Vision Statement on “ASEAN A.C.T.: Addressing Challenges Together)
โดยในเวลาประมาณ 12.30 น. ณ ห้อง Ballroom I และ II โรงแรมสกคาฯ นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีปิด และพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้แก่ให้อินโดนีเซีย ซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนใน 2566 จากนั้นในเวลา 15.15 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมภริยา และคณะออกเดินทางกลับประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ในเวลาประมาณ 16.35 น. ในวันเดียวกัน (13 พฤศจิกายน 2565)