xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.จัดงานสถาปนาครบรอบ ภายใต้แนวคิด “23 ปี ป.ป.ช.สร้างสังคมไทย ไม่ทนทุจริต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วัชรพล” เป็น ปธ.จัดงานสถาปนา ป.ป.ช.ครบรอบ 23 ปี ภายใต้แนวคิด “23 ปี ป.ป.ช. สร้างสังคมไทย ไม่ทนทุจริต” พร้อมมอบรางวัล “เพชรน้ำเอก” สำหรับบุคคลภายในผลงานดีเด่น

วันนี้ (11 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดงานวันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ช.ครบรอบ 23 ปี ภายใต้แนวคิด “23 ปี ป.ป.ช. สร้างสังคมไทย ไม่ทนทุจริต” โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ และพิธีสักการบูชาพระภูมิเจ้าที่ เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงกิจกรรมมอบรางวัล “เพชรน้ำเอก” สำหรับบุคคลภายใน รางวัลหน่วยงานในสังกัดสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ที่มีผลงานดีเด่น

สำนักงาน ป.ป.ช.ยังระบุว่า ตลอด 23 สำนักงาน ป.ป.ช.มุ่งมั่นสร้างสังคมที่ไม่ทนทุจริต ได้ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตควบคู่กับการปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรม โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มุ่งมั่นสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตอย่างต่อเนื่อง จากความพยายามสร้างสังคมที่ไม่ทน ต่อการทุจริตดังกล่าว ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ 1. มีการเฝ้าระวังและส่งเสียง (Watch and Voice) เมื่อพบเห็นความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรณีเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ (น้องแบม) และกรณีเงินทอนวัด เป็นต้น

2.ประชาชนทั่วประเทศช่วยกันเปิดโปงกรณีการทุจริตในพื้นที่จังหวัดของตน เช่น กรณีอาหารกลางวันเด็กนักเรียน

3.การมีคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับกรณีการใช้รถหลวงเพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งกรณีดังกล่าวจะเสริมพลังให้การปรับฐานคิดเกี่ยวกับการรู้จักแยกแยะประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตนที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำลังผลักดันอยู่ประสบผลสำเร็จ

4. การร่วมกันตรวจสอบและติดตามมาตรการป้องกันการทุจริตในกรณีต่างๆ เช่น การรับแปะเจี๊ยะ การทุจริตเกี่ยวกับนมโรงเรียน เป็นต้น ส่งเสริมมาตรการเสริม ได้แก่ การคุ้มครองพยาน การกันบุคคลไว้เป็นพยาน การจ่ายเงินสินบนเป็นรางวัลให้ผู้ชี้ช่อง แจ้งเบาะแส ให้ข้อมูล ให้ข้อเท็จจริงจนมีคำพิพากษาให้ทรัพย์สิน จากการกระทำผิดตกเป็นของแผ่นดิน รวมถึงการประเมินระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) การสร้างเครือข่ายในการป้องกันการทุจริตกับภาคีต่างๆ เป็นต้น 

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.และบุคลากรทุกระดับพร้อมเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน เพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทนทุจริต ภายใต้ค่านิยม “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้” เพื่อขจัดการทุจริตให้หมดไปจากสังคมไทย หากพบเห็นการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ แจ้งมาที่หมายเลข 1205 หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th หรือสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด



กำลังโหลดความคิดเห็น