xs
xsm
sm
md
lg

“หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ” เอาแน่ลุยตั้งธนาคารแรงงาน นัดถกแกนนำ-นักวิชาการเจ้าของไอเดียธนาคารคนงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(10 พ.ย.)ที่โรงแรมเบย์ ศรีนครินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ นายมนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ นัดประชุมกรรมการบริหารพรรค จำนวน 15 คนเพื่อวางแนวนโยบายพรรคเรื่องการจัดตั้งธนาคารแรงงานซึ่งถือเป็นนโยบายที่เป็นจุดขายสำคัญของพรรค อันเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้งโดยเชิญรศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตในฐานะเจ้าของแนวคิดการตั้งธนาคารแรงงานมาให้ความรู้กับแกนนำพรรคโดยเฉพาะ

โดยนายมนัส หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ กล่าวว่า การประชุมคีย์แมนพรรคในครั้งนี้ เราต้องการจัดทำคู่มือการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อนำเสนอ กกต.โดยจะคัดย่อพิมพ์เขียวของ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ซึ่งเรื่องนี้ก็เคยถูกบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณมาแล้ว เราจะนำเนื้อหาดังกล่าวมาทำเป็นคู่มือให้ประชาชนอ่านเข้าใจง่าย มีความกระชับ ซึ่งประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ใช้แรงงานเมื่ออ่านแล้วจะเห็นชัดเจนว่าธนาคารแรงงานสามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ และทำได้ไม่ยาก โดยสามารถเป็นแหล่งทุนในการดำรงขีวิตให้ผู้ใช้แรงงานทุกคน โดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมเงินกู้นอกระบบ ที่ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ20-25 ขณะเดียวกันแกนนำพรรคที่มาประชุมจะได้ช่วยกันไปสื่อสารอธิบายกับเครือข่ายผู้ใช้แรงงานให้รับทราบในวงกว้างต่อไป

“จากการลงพื้นที่พบปะพี่น้องผู้ใช้แรงงานจำนวนหลายสิบโรงงานทุกคนขานรับนโยบายตั้งธนาคารแรงงานของพรรคแรงงานสร้างชาติอย่างกว้างขวาง เพราะเมื่อมีธนาคารแรงงานเกิดขึ้นแล้วผู้ประกันตนที่อยู่ในระบประกันสังคม ที่ปัจจุบันมีอยู่หลายสิบล้านคนจะได้ประโยชน์อย่างมาก ส่วนแนวทางดำเนินการต้องมีการรณรงค์ให้สำนักงานประกันสังคมเปิดทางนำเงินประกันสังคมจำนวน 30,000 -50,000 ล้านบาทไปฝากไว้ที่ธนาคารรัฐเพื่อให้ผู้ประกันตนกู้ยืม แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนต้องนำบัตร ATM ที่นายจ้างโอนเงินค่าจ้างให้มาไว้เป็นหลักประกัน และผู้ประกันตนจะต้องถูกหักเงิน 10% เป็นเงินออมด้วย”หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ กล่าว

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้นโยบายพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค เกือบไม่มีพรรคไหนที่ให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน ยกเว้นพรรคการเมืองที่มีหัวหน้าพรรคมาจากผู้นำแรงงานจริงๆที่เข้าใจเรื่องนี้ ทั้งที่ผู้ใช้แรงงานคือคนส่วนใหญ่ที่ออกเสียงเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของประเทศนี้ ทั้งนี้การจะทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องทำให้แรงงานมีฐานเงินทุนเป็นของตัวเอง ซึ่งการตั้งธนาคารแรงงานตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี ตนขอยืนยันว่าการดำเนินการตั้งธนาคารแรงงานจะไม่กระทบเงินกองทุนประกันสังคม เพราะไม่ได้นำเงินประกันสังคมมาใช้สักบาท เป็นเพียงแต่นำเงินประกันสังคมไปฝากไว้ที่ธนาคารรัฐ เช่น ออมสิน กรุงไทย ประมาณไม่เกิน 50,000 ล้านบาท โดยที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.)ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคารปกติ แต่มีเงื่อนไขให้ทำเป็นลักษณะบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)ระหว่างสปส.กับธนาคารรัฐที่รับฝากเงินสปส.

“จากนั้นธนาคารจะนำเงินที่สปส.ฝากไปปล่อยกู้คนงานแบบไม่เข้มงวด 100% ซึ่งผู้ประกันตน 1 คนสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 3 เท่าของเงินเดือน เสียดอกเบี้ย 10% ผ่อนชำระไม่เกิน 3 ปี พร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขว่า ผู้กู้ยืมต้องออม 10% (ฝากประจำ) และเงินออมนี้เป็นหลักประกันของธนาคารและเป็นการใช้หนี้เพื่อมาพัฒนาคนด้วย วิธีการนี้เราจะมีเงินประจำของผู้ประกันตนที่กู้ยืมนำไปตั้งธนาคารแรงงาน ถามว่าวิธีการแบบนี้เงินประกันสังคมจะหายไปตรงไหน เพราะไม่ได้แตะเงินประกันสังคมสักบาทเดียว”รศ.ดร.ณรงค์ ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น