"ตั๊น จิตภัสร์" โชว์ภาวะผู้นำสตรีระดับโลก หนุนสร้างโอกาสให้สตรีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ย้ำต้องร่วมมือกันเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจ เพิ่มจำนวนและการมีส่วนรวมของสตรีในกระบวนการนิติบัญญัติ เพื่อสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมอย่างยั่งยืน
วันนี้ (10 พ.ย. 65) สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ รัฐสภาไทย ได้เผยแพร่ วิดิทัศน์ถ้อยแถลงของ น.ส. จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะฑูตสันถวไมตรีองค์กรผู้นำหญิงทางการเมืองโลกประจำประเทศไทย (WPL) ในการประชุมผู้นำสตรีระดับโลก The Reykjavík Global Forum – Women Leaders ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 - 10 พฤศจิกายน 65 ณ กรุงเรคยาวิก สาธารณรัฐไอซ์แลนด์
โดยน.ส.จิตภัสร์ ตั๊น ได้กล่าวในนามของรัฐสภาไทย ขอแสดงความยินดีกับองค์กรผู้นำสตรีทางการเมือง รัฐบาล และรัฐสภาของประเทศไอซ์แลนด์ ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Reykjavík Global Forum ครั้งที่ 5 ซึ่งผู้นำสตรีจากทุกภาคส่วนมารวมตัวกันเพื่อหาสรรหาแนวทางในการสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คู่มือเรคยาวิกที่เป็นผลลัพธ์ที่สำคัญจากการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีทางการเมืองครั้งที่ 4 ทำให้ผู้นำทั่วโลกสามารถใช้คู่มือนี้เป็นแนวทางในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีทางการเมือง เป็นการประชุมที่สรรหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างสังคมที่มีความมั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน โดยที่ทุกเพศได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในทุกมิติ
ปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทายสำหรับสตรี ที่จะต้องต่อสู้ กับปัญหาความไม่เท่าเทียม อาทิ งานที่ได้รับเกียรติเท่าเทียมบุรุษ การคุ้มครองทางสังคม และความมั่นคงทางอาหาร ที่พบเจอมาโดยตลอดและชัดเจนยิ่งขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 จะต้องได้รับการแก้ไขในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังการระบาด ในประเด็นนี้ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาสตรีตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับสตรีให้เข้าถึงการศึกษา การจ้างงาน และบริการด้านสุขภาพที่ดีขึ้น แม้ว่าการมีแหล่งเงินทุนจะมีความสำคัญ แต่การกำหนดแผนและนโยบายในการบริหารงบประมาณที่ถูกต้อง เหมาะสม มีความสำคัญมากกว่า รัฐบาลไทยจึงได้จัดทำคู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ เพื่อเป็นใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับภาครัฐในการวางแผนจัดสรรงบประมาณ ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเท่าเทียมต่อทุกเพศภาวะ
ในฐานะของสตรี เราต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างโอกาสให้แก่สตรีในการเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโควิด-19 ในฐานะสมาชิกรัฐสภา เราต้องร่วมมือกันเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจ เพิ่มจำนวนและการมีส่วนรวมของสตรีในกระบวนการนิติบัญญัติ เพื่อสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมอย่างยั่งยืน