xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 65 ย้ำบทบาทภาครัฐ เอกชน และการเมืองสำคัญ แนะสร้างจุดยืนร่วมกันเพื่อทำงานไปสู่เป้าหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ เป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 65 ย้ำบทบาทภาครัฐ เอกชน และการเมืองสำคัญ แนะสร้างจุดยืนร่วมกันเพื่อทำงานไปสู่เป้าหมาย สร้างความก้าวหน้า และรักษาความมั่นคงแก่ประเทศชาติ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (9 พ.ย. 65) เวลา 09.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 65 และบรรยายหัวข้อวิชา “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย พร้อมด้วยคณะนักศึกษา วปอ.รุ่นที่ 65 เข้าร่วมพิธีด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการบรรยายในหัวข้อ “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” ว่า สอดคล้องและตรงกับเจตนารมณ์หลักของการก่อตั้งวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร คือ ความร่วมมือและการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เหล่าทัพ และภาคเอกชนเพื่อปกป้องรักษาประเทศไทย ซึ่งวันนี้ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนก้าวหน้าไปมากท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของทุกคนจึงต้องปรับเปลี่ยน ควบคู่กับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของชาติ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาด้วย

นายกรัฐมนตรีได้ชี้ให้เห็นถึงความได้เปรียบของประเทศไทยว่า มีทรัพยากรและมีความพร้อมในการพัฒนาในหลากหลายด้าน แม้ที่ผ่านมาต้องประสบกับปัญหาจากสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งโรคระบาด ภัยธรรมชาติ ตลอดจนเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ที่ทำให้คนไทยต้องสูญเสียโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาตนเอง แต่ในวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ก็ทำให้เห็นภาพของความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน รวมทั้งบทบาทที่เข้มแข็งของทั้งภาครัฐ เอกชน และการเมือง ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยา แก้ไขปัญหาของประชาชน และพยายามขับเคลื่อนแผนงานโครงการของตนให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์ต่าง ๆ ได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว จึงเป็นเวลาที่ทุกคนจะได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ที่ชะลอไว้ รวมถึงใช้โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมเอเปค แสดงให้ต่างชาติได้เห็นถึงศักยภาพของประเทศในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติได้ซึ่งมีการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลมีการขับเคลื่อนต่อเนื่องเกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งคมนาคมของประเทศที่มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของทุกคนเป็นเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างความเจริญให้ประเทศชาติ โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และการเมือง เป็นต้น

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของส่วนต่าง ๆ ในการที่จะร่วมกันสร้างความเจริญให้ประเทศว่า ภาครัฐมีหน้าที่หลักในการรักษาอธิปไตยและความสงบเรียบร้อยของประเทศ การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ การวางโครงสร้างพื้นฐาน การจัดให้มีหลักประกันทางสังคมและสวัสดิการที่เหมาะสมเพียงพอ สอดคล้องกับการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด การส่งเสริมการศึกษาให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัยให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึง เรียนและพัฒนาคนให้สอดคล้องตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคต มุ่งเน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning ส่วนการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าทั้ง 5 มิติ คือมิติสุขภาพ มิติความเป็นอยู่ มิติการศึกษา มิติรายได้ และมิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาในกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดก่อน รวมถึงให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสในบริการภาครัฐอย่างทั่วถึง และเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนและประชาชน ขณะที่ภาคเอกชน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีส่วนร่วมในการนำนโยบายต่าง ๆ ของรัฐไปขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน ตลอดจนการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น การป้องกันการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการลดโลกร้อนตามนโยบายรัฐบาลและทั่วโลกที่ให้ความสำคัญในขณะนี้ การดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล การสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาสังคม รวมทั้งเป็นเสียงสะท้อนนโยบายและการดำเนินงานของภาครัฐ สำหรับภาคการเมือง เป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน มีส่วนสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนในการดำเนินนโยบายและการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่าไม่ใช่บัตรคนจน แต่เป็นการพุ่งเป้าในการไปดูแลประชาชนกลุ่มผู้มีรายน้อยและกลุ่มเปราะบาง ส่วนจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นของบัตรสวัสดิการฯ ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนจนที่เพิ่มขึ้น เพราะระดับความยากจนจะมีเส้นขีดแบ่งชัดเจนกำหนดรายได้เอาไว้อยู่แล้ว ดังนั้น บัตรสวัสดิการฯ จึงไม่ใช่บัตรคนจน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้มีการส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมมากขึ้นเพื่อความมั่นคงของชีวิตในอนาคต

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคการเมือง ล้วนมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงและสร้างความก้าวหน้าแก่ประเทศชาติทั้งสิ้น ซึ่งเปรียบเสมือนฝ่ามือ มีนิ้วมือทั้ง 5 ประกอบด้วย รัฐบาล ภาคเอกชน ภาคการเมือง ความดี และความรู้ โดยมีประชาชนเป็นดั่งอุ้งมือที่คอยยึดโยงนิ้วมือทั้ง 5 ไว้ และฝ่ามือนี้ต้องทำงานสอดประสานร่วมกัน ทั้งในการผลักดันและสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นประโยชน์ ร่วมกันปกป้องรักษาประเทศ ผลประโยชน์ของชาติ ภายใต้ปัญหาต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนหลายมิติ ภาครัฐ เอกชน และภาคการเมืองจึงจำเป็นต้องสร้างจุดยืนร่วมกัน เพื่อการทำงานไปสู่เป้าหมายร่วมกัน โดยคำนึงถึงทรัพยากรที่ประเทศมีอยู่ซึ่งรวมไปถึงการใช้ทรัพยากรบุคคลทุกช่วงวัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

สำหรับหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 65 มีผู้เข้ารับการศึกษา จำนวน 284 คน ประกอบด้วย ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ ภาคเอกชน นักธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมทั้งนักศึกษาจากต่างประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสิงคโปร์ และเครือรัฐออสเตรเลีย สำหรับการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคปฐมนิเทศ ใช้เวลาศึกษา 3 เดือน และภาคการศึกษาหลัก ใช้เวลาศึกษา 9 เดือน ประกอบด้วย การบรรยาย การถกแถลง การสัมมนาทางวิชาการ การแก้ปัญหาเป็นคณะกรรมการ การเขียนบทความทางวิชาการ การเขียนเอกสารวิจัย การศึกษาดูงานภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งศึกษาและทำความเข้าใจยุทธศาสตร์ซาติ ได้แก่ กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สามารถนำไปเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคคลทั่วไปได้ โดยจะมีการเสนอผลการสัมมนาของนักศึกษาให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้พิจารณานำไปใช้ประโยชน์ต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น