สสส. จัดมหกรรม “ฮักแพงแบ่งปัน อีสานสร้างสุข” ครั้งที่ 5 ชูนวัตกรรมกลไกสภาผู้นำชุมชนภาคอีสาน 263 หมู่บ้าน ลดเหล้า-บุหรี่ เพิ่มการขยับ-กินผัก สานพลัง สสป. เตรียมเดินหน้าหน่วยบริการชุมชน นำร่องโมเดลพี่เลี้ยง รพ.สต. เร่งสร้างชุมชนน่าอยู่เพิ่ม 50 ชุมชนทั่วประเทศ
วันนี้(4 พ.ย. 2565 )ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานมหกรรม “ฮักแพงแบ่งปัน อีสานสร้างสุข” ครั้งที่ 5 ว่า ชุมชนเข้มแข็งเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพ สสส. ริเริ่มชุดโครงการชุมชนน่าอยู่มากว่า 10 ปี มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนระดับหมู่บ้าน ผ่านนวัตกรรมกลไกสภาผู้นำชุมชน สานพลังทีมพี่เลี้ยงสร้างการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนชุมชนในประเด็นสร้างเสริมสุขภาพและปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ ในปี 2565 สสส. พัฒนานวัตกรรมระบบการเป็นหุ้นส่วนจัดการสุขภาพร่วมกัน ระหว่างระบบบริการสุขภาพและกลไกสภาผู้นำชุมชน ผ่าน 2 โมเดล 1. โมเดลพี่เลี้ยง รพ.สต. 56 แห่ง สานพลังสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ (สสป.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิและระบบสุขภาพภาคประชาชน 2. โมเดลพี่เลี้ยง อปท. 11 แห่ง ใช้กลไกสภาผู้นำชุมชนเข้มแข็งเป็นกลไกดำเนินการในพื้นที่ผ่านแผนชุมชนพึ่งตนเอง
“ความสำเร็จในปี 2565 เป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมในการใช้ความร่วมมือจัดการปัญหาด้านสุขภาพของพื้นที่ เกิดผลลัพธ์ 2 ส่วน 1. สมรรถนะกลไกพี่เลี้ยง รพ.สต. อปท. ที่มีความรู้ ความเข้าใจ ถ่ายทอดให้กับชุมชน พร้อมติดตามประเมินผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง 116 คน 2. ความสำเร็จเชิงประเด็น สามารถขยายผลกลไกสภาผู้นำชุมชน 263 หมู่บ้าน ครอบคลุม 20,888 ครัวเรือน เกิดสมาชิกสภาผู้นำชุมชน 6,743 คน ผลักดันการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้กว่า 300 คน จากผู้ดื่ม 935 คน เกิดงานบุญปลอดเหล้า 115 งาน ลดค่าใช้จ่ายในชุมชนกว่า 3 ล้านบาท รวมถึงลดผู้สูบบุหรี่ได้ 22 คน จาก 901 คน ร่วมคัดแยกขยะ 16,639 ครัวเรือน ทำให้ปริมาณขยะลดลงเหลือ 310,9814 กก. จาก 550,3217 กก. พร้อมปลูกผักปลอดสารไว้กินเอง 3,941 ครัวเรือน แก้ไขจุดเสี่ยงลดอุบัติเหตุในชุมชน 50 แห่ง จาก 64 แห่ง คนในชุมชนมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ 6,581 คน มีผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน จากทั้งหมด 1,472 คน พร้อมเข้าเยี่ยมดูแลกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วย NCDs 2,485 คน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมกว่า 700 คน” ดร.สุปรีดา กล่าว
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สสส. มุ่งเป้าดำเนินงานสร้างกลไกบริหารจัดการหมู่บ้านเข้มแข็งด้วยนวัตกรรมกลไกสภาผู้นำชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เร่งสานพลังผู้แทนหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ ภาคีปฏิบัติการในพื้นที่ หน่วยจัดการ สภาผู้นำชุมชนในพื้นที่ทั่วประเทศ ขยายผลพื้นที่นำร่องกว่า 50 ชุมชน ใน 5 จังหวัด ปัตตานี พิจิตร สุรินทร์ เชียงราย ปราจีนบุรี ใช้โมเดลพี่เลี้ยง รพ.สต. กำหนดเป้าหมายให้เกิดหน่วยบริการปฐมภูมิ (Primary Care) ต้นแบบ ที่สามารถดำเนินการในลักษณะหน่วยบริการที่มีชุมชนเป็นฐาน (Community Self Care) ถือเป็นการจัดบริการร่วมระหว่างกลไกสภาผู้นำชุมชนและหน่วยบริการในพื้นที่ นำไปสู่บทเรียนการทำงานที่ใช้กำหนดเป็นมาตรฐานกลางของชุมชนและหน่วยบริการปฐมภูมิในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ