xs
xsm
sm
md
lg

‘นริศ’ ย้ำ สร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อม แนะ พัฒนาต้องควบคู่อนุรักษ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(3 พ.ย.)นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ภาคประชาสังคมแสดงความเป็นห่วงเรื่องการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายที่ทะเลสาบสงขลาว่า ถือเป็นเสียงของประชาชนต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ตนในฐานะคนพัทลุงก็ตระหนักถึงปัญหาโลมาอิวดีที่ใกล้สูญพันธุ์มาโดยตลอดและพยายามยกระดับให้เป็นวาระระดับประเทศ

นายนริศ กล่าวต่อว่า ตนเห็นด้วยกับการพัฒนาหลาย ๆ มิติ แต่นโยบายใดที่กระทบกับทรัพยากรธรรมชาติจะต้องทำด้วยความรอบคอบ และให้ข้อมูลกับคนในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ตนทราบว่านายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้หารือกับนักวิชาการและสถาบันการศึกษาในการวิจัยเพื่อรักษาชีวิตโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายให้อยู่ได้นานที่สุดแล้ว และตนเองก็ไม่ขัดขวางการก่อสร้างสะพาน และเป็น ส.ส.พัทลุงคนเดียวที่ให้ความเห็นชอบผ่าน พรบ.งบประมาณ ในการดำเนินการก่อสร้างสะพานดังกล่าว

นายนริศ ยังกล่าวต่อว่า นอกเหนือจากโครงการก่อสร้างสะพานแล้ว สิ่งที่อาจกระทบกับโลมาอิรวดี หรือแม้กระทั่งโลมาปากขวดและโลมาหลังโหนกนั้น ยังมีข้อมูลว่ามาจากการทำประมงในพื้นที่ ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ต้องมีการรณรงค์และมีต้องมีมาตรการดูแลอย่างจริงจังต่อไป

ทั้งนี้ โลมาอิรวดี มักพบในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ด้วย เช่น แม่น้ำโขง ทะเลสาบเขมร แต่ในระยะหลังมีจำนวนลดหายไปอย่างรวดเร็ว แต่ยังสามารถพบได้ 5 แห่ง คือ คือ แม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า แม่น้ำโขงในส่วนที่เป็นของประเทศลาวและกัมพูชา แม่น้ำมหาคามประเทศอินโดนีเซีย ทะเลสาบซิลิก้า ประเทศอินเดีย และทะเลสาบสงขลาในบ้านเรา โดยแหล่งวิกฤตที่สุดแห่งหนึ่งคือทะเลสาบสงขลาในส่วนที่เป็นน้ำจืดหรือน้ำกร่อย หรือที่เรียกว่า ทะเลน้อย คาดว่าเหลือเพียง 14 ตัวเท่านั้น ขณะที่ที่แม่น้ำโขงบริเวณลาว-กัมพูชามีประมาณ 92 ตัว แต่มีรายงานว่าโลมาอิรวดีน้ำจืดตัวสุดท้ายที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดน สปป.ลาว และกัมพูชาด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือได้ตายไปเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา หลังจากติดอวนจับปลาของชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นบทเรียนในการอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาของประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น