รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบชาวบ้านร้องทุกข์ 1111 ปัญหาเสียงดังรบกวนมากที่สุด รองลงมาเป็นเรื่องไฟฟ้าขัดข้อง และเรื่องโทรศัพท์หมายเลขสายด่วน
วันนี้ (25 ต.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนในไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2565 ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 โดยได้รับแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนผ่านช่องทางร้องทุกข์ 1111 รวมทั้งสิ้น 16,742 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 13,891 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 82.97 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2,851 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 17.03
ทั้งนี้ หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ของส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,255 เรื่อง กระทรวงการคลัง 538 เรื่อง กระทรวงสาธารณสุข 484 เรื่อง กระทรวงมหาดไทย 443 เรื่อง และกระทรวงแรงงาน 391 เรื่อง ส่วนรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 156 เรื่อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 137 เรื่อง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 115 เรื่อง การประปาส่วนภูมิภาค 103 เรื่อง การไฟฟ้านครหลวง 101 เรื่อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 888 เรื่อง จังหวัดนนทบุรี 234 เรื่อง สมุทรปราการ 232 เรื่อง ปทุมธานี 207 เรื่อง และชลบุรี 172 เรื่อง
สำหรับประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ เรื่องเสียงรบกวน และสั่นสะเทือน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหามลภาวะทางเสียงจากสถานบันเทิง สถานประกอบการ ร้านอาหาร บ้านเรือน และวัยรุ่นมั่วสุมรวมกลุ่มแข่งขันรถจักรยานยนต์ส่งเสียงดังรบกวน เรื่องไฟฟ้า เช่น ขอให้แก้ไขปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง และซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง หม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟฟ้า และเสาไฟฟ้า รวมทั้งขอให้ขยายเขตการให้บริการไฟฟ้า เรื่องโทรศัพท์ เช่น ขอให้ปรับปรุงระบบการให้บริการทางโทรศัพท์ หมายเลขสายด่วน 1422 ของกรมควบคุมโรค หมายเลขสายด่วน 1506 ของสำนักงานประกันสังคม และหมายเลขโทรศัพท์พื้นฐานของหน่วยงานในส่วนภูมิภาค
เรื่องการรักษาพยาบาล เช่น ขอให้มีความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) โดยเฉพาะระลอกของสายพันธุ์โอไมครอน BA. 4 และ BA. 5 และขอให้จัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งขอให้พิจารณาการอนุญาตให้ถอดหน้ากากอนามัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วยความปลอดภัยและไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหากลุ่มมิจฉาชีพโทรศัพท์หลอกลวงประชาชน (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) และขอให้แก้ไขปัญหากลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ เรื่องถนน เช่น ขอให้ปรับปรุงซ่อมแซม ก่อสร้างถนน พื้นผิวถนน สะพานกลับรถ บาทวิถี ตีเส้นแบ่งช่องการจราจร ขยายช่องจราจร ไฟฟ้าส่องสว่างริมทางและติดตั้งป้ายสัญลักษณ์จราจร และขอให้ปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์ หรือถนนคอนกรีต
เรื่องน้ำประปา เช่น ขอให้แก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหล ไหลอ่อนและไม่มีคุณภาพ และขอให้ขยายเขตการให้บริการน้ำประปา เรื่องการเมือง เช่น ขอเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการชุมนุมทางการเมือง และการบริหารงานของรัฐบาล เรื่องหนี้สินในระบบ เช่น ขอให้ช่วยเหลือเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินกับสถาบันการเงิน และขอเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกมาตรการปรับลดหนี้และหักชำระหนี้ และประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และเสรีภาพ เช่น ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการถูกข่มขู่คุกคามและทำร้ายร่างกาย และขอให้เร่งรัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย