ประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 สสส. – ศวส. สานพลังภาคีเครือข่าย พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ เดินหน้าสร้างนวัตกรรม สื่อสารสุขภาวะ ป้องกันภัยจาก “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” หยุดปัญหาน้ำเมา-สารเสพติด ทำลายเศรษฐกิจประเทศ สูญเสียนับหมื่นล้านบาท
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 ภัยแอลกอฮอล์:ความเสมอภาค และการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน หัวข้อ“พัฒนาการสำคัญของการขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ปลอดภัย” กับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และภาคีเครือข่าย ที่ ศูนย์จัดประชุมคณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ จ.สงขลา
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า เข้าสู่ปีที่ 21 ที่ สสส. ยึดมั่นเจตนารมณ์หนักแน่น สร้างสังคมสุขภาวะ ให้ปลอดภัยจากอบายมุขทุกชนิด ผ่านการส่งเสริมข้อมูลทางวิชาการ และรณรงค์ให้เกิดการลด ละ เลิก “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักและปัจจัยเสี่ยงร่วม ก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้ดื่มและคนรอบข้าง ทั้งสุขภาพ ระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง Non-communicable diseases: NCDs (NCDs) ซึ่งคนไทยเสียชีวิตมากที่สุดทุกปี จากงานวิจัยการศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พ.ศ.2560 ได้ประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 86,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ค่ารักษาพยาบาล2,508 ล้านบาท 2.ค่าดำเนินคดีความ 1,407 ล้านบาท 3.ค่าความเสียหายต่อทรัพย์สินจากอุบัติเหตุจราจรทางบก 31 ล้านบาท 4.ค่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและสูญเสียบุคลากรด้านการงานที่ดี 82,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่งผลเสียต่อสังคมวงกว้าง
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า แต่ข่าวดีคือ ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยมีแนวโน้มลดลง ร้อยละ 28 จาก ร้อยละ 28.40 เมื่อปี 2560 ขณะที่ข้อมูลภาวะสังคมไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบค่าใช้จ่ายบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2564 ลดลงเช่นกัน เหลือเพียง167,775 ล้านบาท จาก 169,946 ล้านบาท เมื่อปี 2563 จึงเป็นกำลังใจที่ดีในการสานพลังกับภาคีเครือข่าย ผ่านการดำเนินงาน 4 ข้อ 1.พัฒนาฐานข้อมูลเชิงวิชาการและนักวิชาการให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบาย 2.ผลักดันกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มข้น
3.พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็ก-เยาวชน-คนทุกกลุ่ม 4.พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเพื่อรณรงค์สื่อสาร สร้างความตระหนักรู้ให้สังคมปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง
“สสส. ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า จะทำหน้าที่สานพลัง สร้างนวัตกรรม สื่อสารสุขภาวะ เพื่อทำให้ทุกคนมีวิถีชีวิตสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงที่ทำลายสุขภาวะ งานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 ปีนี้ เปรียบเสมือนขุมพลังที่ยิ่งใหญ่ จากทั้งนักวิชาการ ภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ที่ร่วมกันจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อประชาชนต่อไป” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบนักดื่มปัจจุบัน จำนวน 15.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ28 ของประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ส่วนนักดื่มหน้าใหม่หรือประชากรที่เพิ่งเริ่มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรกในชีวิต ภายใน 3 ปีก่อนการสำรวจ มีจำนวน 1.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.93 โดยนักดื่มหน้าใหม่เพศหญิง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่านักดื่มเพศชายอย่างเด่นชัด ขณะที่สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโครงสร้างของประชากร รวมถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อสังคมออนไลน์
, กิจกรรมการตลาดที่เพิ่มขึ้น, การใช้ตราเสมือน และการให้ทุนอุปถัมภ์จากอุตสาหกรรมสุรา ส่งผลให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ และผู้ดื่มมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ
“แม้จะเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย แต่ยังจะต้องใช้แผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 ปี 2564 - 2570 เข้มข้นต่อไป และยอมรับว่า ยังพบปัญหาและอุปสรรค ในการแก้ไขปัญหา ศวส. จึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ และตระหนักถึงการดูแลตนเอง เพื่อป้องกันปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้นต่อไป” ศ.ดร.พญ.สาวิตรี กล่าว
ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ รักษาการอธิการบดีม.สงขลานครินทร์ กล่าวว่า 12 ปี ของการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 12 เห็นถึงความเข้มแข็งและยั่งยืนของหลักการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาในการขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งหน่วยงาน วิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม และเพื่อให้การจัดการกับปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพและนำไปสู่นโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พร้อมให้การสนับสนุนการทำงานในด้านของการประสานความร่วมมือกับศูนย์วิชาการหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการขยายวงนักวิจัย นักวิชาการสาขาอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างฐานความรู้ให้กับสังคม ผลักดันความเป็นผู้นำทางวิชาการ และการนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้เกิดประโยชน์สูงสุด