“ทิพานัน” ย้อนเพื่อไทย นโยบาย “เขตธุรกิจใหม่” ล้าหลัง เลื่อนลอย ล่าช้า โชว์ผลงานรัฐบาล EEC ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ 3 ไตรมาสแรกปี 65 มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ชู 4 ปี งบลงทุนเกินเป้า 1.8 ล้านล้านบาท เงินไหลเข้าประชาชนทุกพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม
วันนี้ (15 ต.ค.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา (ม.ค.- ก.ย.) ของปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 436 ราย โดยในจำนวนนี้มีนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่สนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 80 ราย คิดเป็น 18% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 40,555 ล้านบาท คิดเป็น 41% ของเงินลงทุนทั้งหมด สะท้อนถึงความสำเร็จของ EEC ในส่วนการดึงดูดนักลงทุน และเม็ดเงินเข้ามาลงทุนไหลเข้าสู่ประเทศ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แม้โครงการจะเผชิญอุปสรรคปัญหาต่างๆ จากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจโลก สถานการณ์สู้รบในยูเครนและผลกระทบต่อราคาพลังงาน แต่ในพื้นที่ EEC กลับมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม โดยมีงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เกินจากเป้าหมายในแผนแรกของ EEC ที่กำหนดไว้ 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปี
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ในกรณีที่ พรรคเพื่อไทยโดย ผอ.ศูนย์นโยบายพรรค ได้กล่าวถึงนโยบาย EEC โดยเปรียบเทียบกับนโยบาย “เขตธุรกิจใหม่” 10 ข้อ ของพรรคเพื่อไทยนั้น จึงขอชี้แจงให้สังคมรับทราบข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนและเสียโอกาสดังนี้
1. อีอีซี ได้สร้างระบบนิเวศใหม่ทั้งระบบแล้ว มีการวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและเทคโนโลยีดิจิทัล และยังมีสิทธิประโยชน์เสนอให้นักลงทุนโดยเฉพาะ ครอบคลุมการแก้ไขตั้งแต่ต้นตอเรื่องการลงทุน มีสิทธิประโยชน์ชุดใหม่และมีกลไกแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ ที่สร้างความล่าช้าในการนำมาใช้ ตามที่เพื่อไทยเสนอที่ไม่รู้ว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มตระกูลใดเป็นการเฉพาะหรือไม่
2. อีอีซี มีกฎหมายพิเศษในอีอีซี คือ กฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิประโยชน์และยังครอบคลุมทุกด้าน เช่น ใบอนุญาต ที่ดินทำกิน ป้องกันการผูกขาดและการแข่งขันทางการค้า การนำเข้าส่งออก แรงงาน วีซ่า ภาษี สิทธิประโยชน์ ธุรกรรมการเงิน ทรัพย์สินทางปัญญา ระบบยุติธรรม ดังนั้นจึงขอให้ทีมงานเพื่อไทยศึกษา พรบ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 ให้ละเอียดโดยเฉพาะหมวด 4 การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและหมวด 5 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และอีอีซีไม่มีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย มีการพิจารณาปลดล็อกกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคมาโดยตลอด
3. อีอีซี มีการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve industries) ที่จะสร้างศักยภาพความสามารถเทคโนโลยีของประเทศ และทักษะฝีมือของแรงงานไทยให้เพิ่มขึ้น และมีการสนับสนุน เปิดโอกาสทุนย่อย และ SMEs จึงไม่มีการผูกขาดอุตสาหกรรมใด
4. อีอีซี มีสิทธิประโยชน์ด้านการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพัฒนารูปแบบและเงื่อนไข เพื่อทันต่อการใช้งานและให้เข้ากับสถานการณ์การเงินทั่วโลก เข่น ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้เตรียมทดสอบระบบเงินบาทดิจิทัลแล้ว
5. อีอีซี มีแผนพัฒนา 8 แผน ครบวงจร ซึ่งแต่ละแผนจะเชื่อมโยงกัน นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่อย่างสมบูรณ์แบบเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในทุกมิติ ดังนั้น ที่กล่าวหาว่า “อีอีซี คือ จิกซอว์ไม่ครบวงจร” จึงเป็นข้อวิจารณ์ของพรรคเพื่อไทยที่ขาดความรู้ สิ่งที่กล่าวอ้างว่า “จะมี” ในเขตธุรกิจใหม่นั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลขณะนี้รองรับไว้หมดแล้ว และเกินกว่าที่เพื่อไทยคิดไปมาก ดังนั้น ที่กล่าวหาว่าอีอีซีเน้นมิติเดียว ขาดกลไกนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ในการดึงเงินต่างชาติ จึงไม่ถูกต้อง
6. อีอีซี เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเชียอย่างครบวงจร ซึ่งจะเชื่อมตลาดโลกได้อย่างรวกเร็ว คล่องตัว จะเห็นได้จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการคมนาคมแบบไร้รอยต่อทั้งทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ ดังนั้น จึงเป็นการขยายตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกล่าวอ้างว่า อีอีซี ไม่ตลาดเล็กจึงไม่จริง
7. อีอีซี กำหนดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค ที่กำหนดประเภทอุตสาหกรรมของแต่ละภาคเพราะต้องการดึงศักยภาพที่พร้อมและเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากตามศักยภาพในท้องถิ่นนั้น ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งประเทศเชื่อมโยงกับอีอีซีอย่างเป็นระบบ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในย่านอีอีซีจะได้โฟกัสระบบต่างเฉพาะทาง หากใช้แผนของพรรคเพื่อไทยที่เขตธุรกิจใหม่ เปิดกว้างครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมก็จะเกิดความซ้ำซ้อน สะเปะสะปะ ไม่ได้ดึงศักยภาพการใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่มาใช้เลย เป็นแผนการพัฒนาที่ลงทุนมากผลตอบแทนน้อย
8. อีอีซี สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC เพียงเท่านั้น แต่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงและภาพรวมของประเทศยังได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ที่จะได้มีโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ระบบสาธารณสุข ระบบสาธารณูปโภคที่ทันสมัย มีโอกาสมีงานทำ และรายได้ที่ดีขึ้น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังเกิดการมีส่วนร่วม เช่น อีอีซีสแควร์ บัณฑิตอาสา เยาวชนต้นแบบ โครงการต้นแบบสวนภาษาอังกฤษ และจีน หลักสูตรอีอีซีกับการบริหาร องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคาดการณ์ว่าไทยจะเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างน้อย 5% ต่อปี
9. อีอีซี มีกฎหมายพิเศษในอีอีซี ที่เพื่อส่งเสริมการลงทุน ปลดล็อกข้อจำกัด และยังได้สิทธิประโยชน์และครอบคลุมทุกด้าน อย่างเป็นธรรมและง่ายต่อการลงทุน
10. อีอีซี ปัจจุบันมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนไว้แล้ว ตามนโยบายและพื้นที่การลงทุนแต่ละพื้นที่ ทำให้รองรับผู้ลงทุนและเงินลงทุนทั้งในและนอกประเทศ อย่างไร้ขีดจำกัดได้ทันที
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการวางโครงสร้างใหม่ กฎหมายใหม่ เงื่อนไขใหม่ ทำความเข้าใจนักลงทุนใหม่ ประชาชนจะสามารถพิจารณาเองได้ว่า จะต้องใช้ระยะอีกกี่สิบปี ไม่อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง เลื่อนลอย ล้าหลัง รวมถึงระยะเวลาจริงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงอยากให้พรรคเพื่อไทย ศึกษา พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 ให้ละเอียดรอบคอบ ก่อนเปรียบเทียบวิจารณ์ เพราะสิ่งที่รัฐบาลโดย พล.อประยุทธ์ ได้วางแผนและทำล้ำหน้าและทันสมัยไปมากกว่าที่เปรียบเทียบแล้ว ที่สำคัญยังโปร่งใสไม่มีทุจริตเอื้อตระกูลใดตระกูลหนึ่งด้วย
“สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องตระหนักก่อนหาเสียง คือ ในความเป็นจริง EEC นั้นได้เริ่มแล้ว และมีแนวโน้มที่สดใส ครอบคลุมการพัฒนาเชิงโครงสร้างไปทุกจังหวัด เช่น การคมนาคม การวางระบบ 5G ที่รวดเร็วที่สุด ครอบคลุมมากสุดในอาเซียน เพื่อเข้าพื้นที่และลงทุนอีอีซี ซึ่งขณะนี้ก็มีนักลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะสร้างโอกาสให้ไทยกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดด ยิ่งหากรัฐบาลได้เดินหน้าต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง จะสร้างเม็ดเงินเข้าไหลเข้ากระเป๋าประชาชนได้อย่างมั่งคั่งเป็นรูปธรรมทันเวลา” น.ส.ทิพานัน กล่าว