xs
xsm
sm
md
lg

“อุตตม” ประกาศนโยบายแก้หนี้เบ็ดเสร็จ พักต้น-ดอก 5 ปี ให้ ปชช.ลืมตาอ้าปาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อุตตม” ยก “คนพัทลุง” ใจใหญ่-มีพลังรักบ้านเกิด ขอ สอท.เป็นหนึ่งเดียวด้วย ชำแหละภาคใต้เหลื่อมล้ำสูง หวังมีโอกาสเข้าไปอก้ไข กระจายรายได้ภาคใต้ให้ดีกว่านี้ พร้อมคิกออฟนโยบายแก้หนี้เบ็ดเสร็จ พักต้น-ดอก 5 ปี พร้อมเติมทุน ให้คนไทยลืมตาอ้าปาก

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 ที่โรงแรมศิวา รอยัล จ.พัทลุง นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ได้กล่าวปราศรัยในโอกาสเปิดตัวผู้แสดงเจตจำนงเป็นผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง ทั้ง 3 เขต ของพรรคตอนหนึ่งว่า ที่เดินทางมา จ.พัทลุง หวังที่จะให้เห็นกับตาเรื่องที่ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค และประธานภาคใต้ของพรรคสร้างอนาคตไทย บอกกับตนว่า คนพัทลุงมีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ “หัวใจใหญ่กว่าปอด” เพราะเป็นคนพูดจริงทำจริง รักใครแล้วรักเลย เรียกว่ารักหมดใจ ที่สำคัญคนพัทลุงมีพลังพิเศษที่เรียกว่า “พลังรักบ้านเกิด” พร้อมที่จะทุ่มเทเพื่อสร้างสิ่งดีๆให้กับบ้านเกิดเมืองนอน

“วันนี้ผมได้เห็นหัวใจและพลังของคนพัทลุงแล้ว และพรรคสร้างอนาคตไทยขอประกาศที่จะรับใช้และเป็นหนึ่งเดียวกับคนพัทลุง” นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม กล่าวต่อว่า หลายปีที่ผ่านมา จ.พัทลุง ขาดโอกาสการพัฒนาอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ทั้งการเกษตรและการท่องเที่ยว โดยทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้มีรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท แต่เมื่อมองไปในรายละเอียดแต่ละจังหวัดกลับมีความแตกต่างกันมาก เช่นเมืองท่องเที่ยวอย่าง จ.ภูเก็ต รายได้ต่อหัวประชากรเกือบ 3 แสนบาทต่อปี แต่ จ.พัทลุงมีรายได้ต่อหัวเพียง 6 หมื่นกว่าบาทต่อปี ดังนั้นจึงต้องคิดทำอย่างไรให้รายได้คนพัทลุงเพิ่มขึ้น ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ให้ทั่วถึงมากขึ้น

นายอุตตม กล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือหนี้สินของประชาชนที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากเป็นตัวถ่วงทำให้ประชาชนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ วันนี้หนี้สินครัวเรือนคนไทยอยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท ที่สำคัญ เป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งน่าจะมีมูลค่าในระดับหลักแสนล้านบาท พรรคสร้างอนาคตไทยจึงชูนโยบายแก้ไขหนี้แบบเบ็ดเสร็จ โดยการแก้ปัญหาหนี้จะต้องทำ 3 เรื่องพร้อมๆ กัน คือ 1. ปรับโครงสร้างหนี้ หยุดหนี้ทั้งหมดทั้งต้นทั้งดอก อย่างน้อย 5 ปี เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ปัญหาก็จะวนกลับมา, 2. เติมทุนใหม่ให้ประชาชนนำไปต่อยอดทำรายได้เพิ่ม และ 3. เติมความรู้และเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการสร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ.


กำลังโหลดความคิดเห็น