UN E-Government Survey 2022 เผยผลสำรวจดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ไทยติดอันดับ 55 จาก 193 ประเทศ รัฐบาลเตรียมดัน “4 แพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง” เชื่อมต่อบริการรัฐสู่ภาคธุรกิจและประชาชน เตรียมพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเต็มตัว
วันนี้ (3 ต.ค.) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 2/2565 วันที่ 29 กันยายน 2565 โดยมี นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาคณะกรรมการ และ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมประชุม
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (GDX), ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th), Biz Portal และ Citizen Portal (แอปพลิเคชันทางรัฐ) เป็น ‘แพลตฟอร์มกลาง’ เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงการบริการของภาครัฐได้สะดวกที่จุดเดียว โดยไม่ต้องเสียเวลาในการค้นข้อมูล กรอกคำขอ และยื่นเอกสารใหม่ผ่านเว็บไซต์ของแต่ละหน่วยงาน โดยให้ DGA เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้ทุกหน่วยงานเชื่อมโยงข้อมูลหรือบริการเข้ากับแพลตฟอร์มกลางบริการภาครัฐ ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลต่อไป ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดมีแพลตฟอร์มกลางที่ให้บริการอยู่แล้ว ให้นำมาเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ความเห็นชอบและประกาศเป็นทางการ (DG official announcement) ให้เป็นไปตาม พ.ร.ฎ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 มาตรา 10
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ ได้เผยแพร่ผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (The UN E-Government Survey 2022) ซึ่งเป็นผลการสำรวจดัชนีด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐของ 193 ประเทศ ซึ่งล่าสุดดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ประเทศไทยขึ้นมา 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 55 จากอันดับที่ 57 ปี 2563 โดยประเทศไทยได้อันดับ 3 ของอาเซียน ซึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ไทยมีอันดับดีขึ้น คือ องค์ประกอบด้านทุนมนุษย์ (Human Capital Index) และด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีและการสื่อสาร (Telecommunication Infrastructure Index) ส่วนตัวเลขดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชน (e-Participation Index: EPI) ประเทศไทยขึ้นมา 33 อันดับ อยู่อันดับที่ 18 จากอันดับที่ 51 ปี 2563 โดยประเทศไทยได้อันดับ 2 ของอาเซียน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการหาแนวทางป้องกันเรื่องความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนด้วย
ด้าน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA กล่าวว่า ตนได้กำชับให้ DGA อำนวยความสะดวกหน่วยงานภาครัฐเพื่อปรับตัวให้บริการประชาชนผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นให้บริการประชาชนเป็นหลัก สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อมสูง สามารถพัฒนาระบบของตนเองได้โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัลกำหนด เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูล และทำงานสอดคล้องกับระบบบริการของหน่วยงานอื่นได้ โดย DGA มีความพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการจัดให้มีแพลตฟอร์มกลางเพื่อให้ส่วนราชการสามารถประสานงานและติดต่อผ่านระบบกลางได้โดยสะดวก
ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล อนุกรรมการและเลขานุการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แพลตฟอร์มกลางตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 DGA ได้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 การบริหารงานภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล เป็นกลุ่มที่บริการจัดการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐด้วยกันเพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น กลุ่มที่ 2 การให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล เป็นการให้บริการแก่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก และกลุ่มที่ 3 เครื่องมือกลางสำหรับใช้ในกระบวนการสำคัญ (Microservices) เช่น Digital ID/e-Payment/e-Receipt/e-Document/Tracking System/GDCC เป็นต้น ทั้งนี้ แพลตฟอร์มกลางต้องสอดคล้องกับมาตรฐานในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการดูแลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย