ข่าวปนคน คนปนข่าว
** “สิงห์หนุ่ม” เต้-ภูริต ภิรมย์ภักดี จากพนักงานดูแลถังเบียร์-นักร้อง..สู่ซีอีโอ บุญรอดฯ คนใหม่
เมื่อตำแหน่ง “ซีอีโอ” ว่างลง หลังการจากไปของ “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุด บุญรอดบริวเวอรี่ ก็ได้ “กัปตัน” คนใหม่มาทำหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่เรียบโร้ย..นั่นก็คือ “ภูริต ภิรมย์ภักดี” ที่ถือเป็นทายาทสิงห์รุ่นที่ 4 ของตระกูลภิรมย์ภักดี โดยมีผลตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
สิงห์หนุ่ม “ภูริต ภิรมย์ภักดี” มีชื่อเล่นว่า “เต้” เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2520 ปัจจุบันอยู่ในวัย 45 ปี เป็นบุตรชายคนโตของ “สันติ-อรุณี ภิรมย์ภักดี” ซึ่งมีพี่น้อง 2 คน คือ “ต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี” และ “เตย-ปรีดิ์รติ ภิรมย์ภักดี” สมรสกับ “ตอง” นิสามณี ภิรมย์ภักดี มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ น้องนิษา และ น้องสิงห์-ณกฤศ ภิรมย์ภักดี
โปร์ไฟล์ส่วนตัวของ “ภูริต” ถือว่า ไม่ธรรมดา จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสาธิตประสานมิตร ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากนั้นบินไปสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาต่อระดับไฮสคูล ที่ Wilbraham Monson Academy ถึงเกรด 12 และจบปริญญาตรีด้าน Business Management จากมหาวิทยาลัย Bentley College เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ปริญญาโททางธุรกิจ Master of Business Administration และ Marketing and Entrepreneurship Major ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขณะที่ชีวิตการทำงาน “ภูริต” เริ่มเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวครั้งแรกในวัย 21 ปี ในตำแหน่ง “พนักงานดูแลถังเบียร์”
จากนั้นก็ออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ที่ Doemens Institute of Technology ซึ่งเป็นสถาบันสอนด้านการปรุงเบียร์ที่เก่าแก่ของเยอรมนี ถือเป็น “Brewmaster” คนที่ 3 ของตระกูลภิรมย์ภักดี ต่อจากคุณปู่ “ประจวบ ภิรมย์ภักดี” ซึ่งเป็น Brewmaster ไทยคนแรก และ “ปิยะ ภิรมย์ภักดี” ผู้เป็นลุง
จุดสตาร์ท ทำงานให้บุญรอดฯจริงๆ
กระทั่งปี 2547 “ภูริต” จึงถือว่า เข้าทำงานบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด อย่างเต็มตัว ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่มนอนแอลกอฮอล์
กระทั่งปี 2553 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง ตั้งแต่ปี 2559
ชีวิตอีกด้านหนึ่งของ “ภูริต” เป็นที่รู้จักในบทบาท “ศิลปิน” เป็นสมาชิกวงดนตรี กรุงเทพมาราธอน (Krungthep Marathon) ตำแหน่ง “นักร้องนำ” ผลงานเพลงที่คุ้นหู เช่น “หากความรักฟังอยู่” เพลงประกอบละคร บันไดดอกรัก “เมื่อไหร่จะได้พบเธอ” เพลงประกอบละคร พรพรหมอลเวง และ “น้ำตา” เพลงที่ภูริต แต่งเนื้อร้องและขับร้องด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ “ภูริต” ยังชื่นขอบกีฬา Extreme ทั้งการแข่งรถยนต์ เคยลงแข่งรถยนต์ในหลายรายการ Snowboard, มวยไทย โดยเป็นเจ้าของโรงเรียนมวยไทย RSM Academy รวมทั้งเป็นผู้สนับสนุนให้กับนักมวยไทยอย่าง “บัวขาว บัญชาเมฆ” และสนับสนุนค่ายมวยบัญชาเมฆ
การก้าวขึ้นมาเป็น “ซีอีโอ” คนใหม่ของ บุญรอดบริวเวอรี่ ก็ต้องบอกว่า น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า สิงห์หนุ่ม “เต้-ภูริต” ผู้นี้ จะกุมบังเหียนควบพาอาณาจักรเบียร์สิงห์ไปได้ดีแค่ไหน และ Extreme อย่างไร
** ยลตามช่อง “ลุงตู่” รอดหรือร่วง จบไหมครับนาย
วันนี้ (30 ก.ย.) เวลาบ่ายสามโมง ก็จะรู้แล้วว่า “นายกฯ ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่หรือไป จากเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี
ตามรายงานบอกว่า “ลุงตู่” จะรอฟังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่บ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โดยมอบหมายให้ “พล.ต.วิระ โรจนวาศ” ที่ปรึกษานายกฯ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายไปรับฟังคำวินิจฉัยที่ศาลฯ
อย่างที่ “กูรู” ด้านกฎหมายถกเถียงกันว่า “ลุงตู่” เป็นนายกฯมาครบ 8 ปี หรือยังนั้น ...หากดูตาม “พฤตินัย” ที่ “ลุงตู่” ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ หลังการรัฐประหาร เมื่อ 23 ส.ค. 57 ซึ่งเป็นช่วงของการใช้ รธน.ปี 57 นั้นก็จะครบ 8 ปีไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 65 แต่ถ้าจะยึดเอาการเป็นนายกฯ ตาม รธน.ปี 60 ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นหลัก ก็จะยังไม่ครบ 8 ปี
ฝ่ายที่เห็นว่า “ลุงตู่” ยังเป็นนายกฯไม่ถึง 8 ปี เพราะน่าจะเริ่มนับจากวันที่ 6 เม.ย. 60 ที่ รธน. 60 ประกาศใช้ ก็ไปหมดวาระในปี 68 ซึ่งนักกฎหมายที่เห็นตามแนวทางนี้ อาทิ สมชาย แสวงการ สุรพล นิติไกรพจน์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ สดศรี สัตยธรรม
ขณะที่นักกฎหมายในซีกฝ่ายค้าน รวมทั้ง “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต. นั้น เห็นว่า “ลุงตู่” อยู่ครบวาระแล้ว ก็จะยกเอาเจตนารมย์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน มาอ้างอิง โดยล่าสุด “สมชัย” โพสต์ผ่านโซเชียลฯ ว่า ได้ไปที่ห้องสมุดรัฐสภา เพื่อค้นบันทึก กมธ.ปมวาระ 8 ปี เปิดให้ดูชัดๆ แล้วบอกว่า... มันจบแล้วครับนาย
บันทึกการประชุมครั้งที่ 500 วันที่ 7 ก.ย. 61 ...ในส่วนมาตรา 158 ที่ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งนายกฯ ห้ามเกิน 8 ปีนั้น อยู่ในหน้า 2-6 มีผู้อภิปรายและการมีมติ ดังนี้
“หากนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ รธน.60 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งตาม รธน.60 ด้วย”
“สุพจน์ ไข่มุกด์” รองประธาน กมธ.คนที่หนึ่ง (หน้า 3)
“เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนหน้าประกาศใช้ รธน.นี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่ง รธน.นี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตาม รธน.นี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งด้วยโดยอนุโลม”
การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ก่อนวันที่ รธน.นี้ใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตาม รธน.60 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี”
“มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. (หน้า 3-4)
“ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้มีการดำรงตำแหน่งนายกฯ ติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ในระหว่างรักษาการ ภายหลังจากการพ้นตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ดังกล่าว การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวนานเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”
มติที่ประชุม กรธ. (หน้า 6) เลิกประชุมเวลา 16.40 น.
บันทึกการประชุมครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 ก.ย. 61 เริ่มประชุมเวลา 14.05 น. มีกรรมการเข้าประชุม 18 คน ระเบียบวาระที่สอง รับรองบันทึกการประชุม
“คณะกรรมการมีมติรับรองบันทึกการประชุมครั้งที่ 497 วันอังคารที่ 28 ส.ค. 61 ถึงครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 ก.ย. 61 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมตรวจทานแล้ว โดยไม่มีการแก้ไข”
เลิกประชุมเวลา 16.05 น.
จบแล้วครับเจ้านาย!!
ขณะที่ “ส.ว.สมชาย แสวงการ” ก็โพสต์ ถึงวิธีการนับวาระ 8 ปี ของนายกฯ ไว้เช่นกันว่า ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการกฎหมาย นับได้ 2 วิธี
นอกเหนือจากวิธีที่ 1 ที่นับครบ 8 ปี ตั้งแต่ 2562-2570 ไปแล้ว ยังมีวิธีที่ 2 ที่นับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560-2568 โดยจะต้องนำ บทเฉพาะกาล ของ รธน. และแนวคำวินิจฉัยของศาล รธน. มาประกอบพิจารณาด้วย ดังนี้
1. บทเฉพาะกาลมาตรา 264 ที่มีหลักการที่ว่า ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรี เพื่อให้บริหารประเทศได้โดยไม่ติดขัด จึงบัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้ รธน.นี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่ง รธน. 2560 ด้วยจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกจะเข้ารับหน้าที่” โดยผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติและการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ
มีผลให้คณะรัฐมนตรี รวมทั้งนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อน วันประกาศใช้ รธน.60 เป็นคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่รธน.นี้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 60 ด้วย
2. แนวคำวินิจฉัยของศาล รธน. เคยมีคำวินิจฉัย ที่ 5/2561 เรื่องสถานะความเป็นรัฐมนตรี ของนายดอน ปรมัตถ์วินัย มีความเป็นรัฐมนตรีตาม รธน. 60 เมื่อใด โดยคำวินิจฉัยดังกล่าวได้วินิจฉัยตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ให้ถือเอาวันที่ รธน.ประกาศใช้บังคับ 6 เม.ย. 60 เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตําแหน่งรัฐมนตรีตาม รธน.นี้ด้วย
สรุปความเห็นทางวิชาการกฎหมายในการนับวิธีที่ 2 จึงเริ่มนับตั้งแต่ 6 เม.ย. 60 ไปครบการดำรงตำแหน่ง8ปี เม.ย. 68
ส่วนวิธีการนับแบบอื่น ที่จะให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปี และต้องพ้นไปตั้งแต่ 24 ส.ค. 65 นั้น ความเห็นส่วนตัวมองไม่เห็นจริงๆ ว่าจะเขียนคำวินิจฉัยและคำอธิบายเช่นนั้นได้อย่างไร
ปัญหานี้มองในแง่มุมกฎหมาย ก็เปรียบเหมือนสองคนยลตามช่อง ท้ายที่สุดจึงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน!!
หาก “ลุงตู่” ไม่ได้ไปต่อ ก็ต้องเริ่มกระบวนการหานายกฯ คนใหม่ ...แต่ถ้า “ลุงตู่” ได้ไปต่อ ก็จะเหลือเวลาเพียงแค่เดือน มี.ค.ปีหน้า หรือประมาณ 6 เดือน ก็จะครบวาระแล้ว ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่
แต่ส่วนใหญ่เห็นว่า หาก “ลุงตู่” รอด ก็คงอยู่เพียงแค่การทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปกในเดือน พ.ย.นี้ เมื่อเสร็จการประชุม ก็คงยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ...เมื่อถึงเวลานั้น “ลุงตู่” อาจวางมือทางการเมืองก็ได้ ซึ่งถือว่าเป็น “ทางลง” จากอำนาจที่เหมาะสมที่สุด
สำหรับการเมืองไทยแล้ว บางครั้งการยึดหลักนิติศาสตร์อย่างเดียวก็แก้ปัญหาไม่ได้ หรือได้แบบไม่สะเด็ดน้ำ ต้องมีหลักรัฐศาสตร์เข้ามาประกอบด้วย