xs
xsm
sm
md
lg

“ชวน” แถลงข่าวคณะทูต เตรียมพร้อมไทยเป็นเจ้าภาพ ประชุม APPF ครั้งที่ 30 เดือน ต.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปธ.ชวน” แถลงข่าวคณะทูต เตรียมพร้อมไทยเป็นเจ้าภาพ ประชุม APPF ครั้งที่ 30 เดือน ต.ค.นี้ ชูบทบาทการฟื้นตัวสถานการณ์โควิด-19 กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันนี้ (29 ก.ย.) นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แถลงข่าวแก่คณะทูตานุทูต ในโอกาสการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 ซึ่งรัฐสภาไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2565 ณ อาคารรัฐสภา ภายใต้หัวข้อ “บทบาทของรัฐสภาในการเร่งรัดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : Parliaments and the Post - COVID-19 Sustainable Development"

ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ขณะนี้มีประเทศสมาชิก และผู้สังเกตการณ์ตอบรับเข้าร่วมการประชุมแล้วกว่า 20 ประเทศ จาก ทั้งหมด 28 ประเทศ ที่มีสำนักงานในประเทศไทย โดยจะเป็นครั้งแรกของรัฐสภา ที่จะใช้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นสถานที่จัดการประชุม และรองรับคณะทูตานุทูตจากต่างประเทศ และจะเป็นครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรในชุดนี้ ซึ่งในการประชุมดังกล่าว ประเทศไทยจะหยิบยกบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการเดินหน้าหลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด รวมถึงการเผชิญหน้ากับปัญหาอื่นๆ ที่แม้การระบาดโควิด-19

ซึ่งการประชุมครั้งนี้ มีวาระการประชุมครอบคลุมประเด็นหลากหลายต่างๆ จึงเป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะผลักดันวาระที่มีความสำคัญและเพิ่มพูนผลประโยชน์แก่ประเทศ ประชาชน ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสสำคัญของรัฐสภาไทยที่จะแสดงบทบาทการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในเวทีรัฐสภาระหว่างประเทศ และช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประเทศจากวิกฤต การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งไม่เพียงส่งผลในด้านสาธารณสุข แต่ยังกระทบต่อเศรษฐกิจและการพัฒนา รวมทั้งวิถีชีวิตของประชาชนในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการดำเนินการของประเทศต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความก้าวหน้าในการดำเนินการในหลายประเทศประสบปัญหา และอาจส่งผลให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ รัฐสภาไทย ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และเห็นว่าการประชุม APPF ครั้งที่ 30 ควรนำประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน มาหารือในกลุ่มประเทศสมาชิกของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็น และประสบการณ์ของสมาชิกรัฐสภาจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จากการหารือร่วมกันเพื่อนำเสนอแนวทางในบริบทของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยคาดหวังว่าแนวทางการดำเนินการด้านนิติบัญญัติจะมีส่วน ช่วยสนับสนุนการดำเนินการของประเทศสมาชิกให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทันภายในปี 2573

หัวข้อสำหรับการประชุมทั้ง 4 ด้านของการประชุมประจำปี APPF ครั้งที่ 30 ได้แก่
- ด้านสตรี หัวข้อ “การเสริมสร้างศักยภาพของสตรีเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคต การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”
- ด้านการเมืองและความมั่นคง หัวข้อ “บทบาทการทูตเชิงรัฐสภาในการส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาค / การส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภูมิภาค /รัฐสภาและการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สันติภาพ และความมั่นคง”
- ด้านเศรษฐกิจและการค้า หัวข้อ “การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุม / การเพิ่มความเชื่อมโยงและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก”
- ด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคภายในเอเชีย-แปซิฟิก หัวข้อ “บทบาทของรัฐสภาในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็น กลางทางคาร์บอนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ /การพัฒนาและการขยายการเข้าถึงสาธารณสุขมูลฐานอย่างเท่าเทียม/การส่งเสริม การท่องเที่ยวระดับภูมิภาคและการสนับสนุนความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม”

ทั้งนี้ การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ประกอบด้วย 4 อนุภูมิภาค ได้แก่
1. เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (5 ประเทศ) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มองโกเลีย และรัสเซีย
2. เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (9 ประเทศ) ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และบรูไนดารุสซาลาม
3. โอเชียเนีย/หมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ตะวันตก และตอนใต้ (6 ประเทศ) ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิจิ ไมโครนีเซีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะมาร์แชลล์
4. อเมริกา (8 ประเทศ) ได้แก่ แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก เปรู สหรัฐอเมริกา เอกวาดอร์ และคอสตาริกา

การจัดการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30 ของรัฐสภาไทยในปีนี้ เป็นการประชุมที่เน้นรูปแบบการจัดประชุมสีเขียว (Green Conference) ซึ่งคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญในขั้นตอนต่างๆ ของการจัดประชุมตั้งแต่การจัดเตรียมสถานที่ และอุปกรณ์ เช่น กระเป๋าเอกสาร

สำหรับแจกให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ตัดเย็บจากผ้าดิบเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง และมีความทนทาน ปากกาทำจากการนำเอาวัสดุที่ใช้แล้วมาแปรใช้ใหม่ (Recycle) ในที่นี้คือกระดาษและฟางข้าวสาลี ที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการใช้พลาสติก การใช้กระดาษเท่าที่จำเป็น เป็นต้น รวมถึงการจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มยังคำนึงถึงแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) เพื่อลดปริมาณขยะ


กำลังโหลดความคิดเห็น