"ประยุทธ์" เผย เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกฯ ให้เข้าถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับโลกได้สะดวก ยกระดับความสามารถในการแข่งขันไทย ไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมและการบริการแห่งอนาคต ตามวิสัยทัศน์นายกฯ
วันนี้ (28ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพจเฟซบุ๊กศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี-PMOC ได้โพสต์ข้อความถึงการปฏิบัติหน้าที่ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม โดยมีเนื้อหาระบุว่า ถึงแม้ว่าการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพาณิชย์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะได้รับการคุ้มครองโดย พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แล้วก็ตาม แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวเพียงสามารถคุ้มครองได้เฉพาะในประเทศ หากผู้สร้างสรรค์ หรือผู้ประกอบการมีความต้องการส่งออกสู่ต่างประเทศ ยังพบปัญหาความยุ่งยาก ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายที่สูง เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมของชาติ และเป็นช่องว่างให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ เอารัดเอาเปรียบนักออกแบบพัฒนาของไทย
รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีวิสัยทัศน์ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สู่ความเป็นผู้สร้างสรรค์และส่งออกนวัตกรรม จึงให้ความสำคัญกับการยกระดับความสามารถในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย
รัฐบาลดำเนินการเพื่อการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Hague Agreement Concerning the International Registration of Industrial Designs) ภายใต้กรรมสารเจนีวา ค.ศ. 1999 และปรับปรุงพระราชบัญญัติสิทธิบัตรให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศนี้ เป็นข้อตกลงที่ถูกจัดทำและบริหารงานโดย องค์การทรัพย์สิน ทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) สังกัดสหประชาชาติ มีอำนาจในการดูแลคุ้มครองการออกแบบอุตสาหกรรมให้แก่ประเทศสมาชิกในภาคีเครือข่ายทั่วโลก
การปรับปรุงข้อกฎหมายในครั้งนี้ มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการยื่นคำขอจดทะเบียน ช่วยให้การขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในประเทศต่าง ๆ ที่เป็นภาคีได้ด้วยการดำเนินการเพียงครั้งเดียว มีความรวดเร็ว ไม่ซ้ำซ้อนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีการขยายอายุการให้ความคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ ขยายขอบเขตการขอรับสิทธิบัตรไปยังการออกแบบผลิตภัณฑ์บางส่วนเพิ่มอีกด้วย
การดำเนินการปรับปรุงกฎหมายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในครั้งนี้ เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักออกแบบอุตสาหกรรม, นักค้นคว้าวิจัย และผู้พัฒนานวัตกรรมของไทย ให้สามารถเข้าถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับโลกได้สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมและการบริการแห่งอนาคต ตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี
#มติคณะรัฐมนตรีเพื่อประชาชน
#สร้างไทยไปด้วยกัน #ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
#PMOC #ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี