xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมน้ำบาดาล นำทีมงานคนรุ่นใหม่ ตะลุยดูงานด้านน้ำบาดาลทั้งยุโรปและอเมริกาเพื่อต่อยอดการพัฒนาน้ำบาดาลของประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 22 ก.ย.นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ตนได้นำทีมงานคนรุ่นใหม่จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เดินทางไปศึกษาดูงานด้านน้ำบาดาลจากประเทศที่มีการใช้น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคมาเป็นร้อยๆปี อย่างเช่นยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยได้ไปดูการพัฒนาน้ำบาดาลริมฝั่งแม่น้ำดานูบ แม่น้ำที่ยาวที่สุดในยุโรป มีความยาวถึง 2,850 กิโลเมตร ไหลผ่านและเป็นเส้นแบ่งอาณาเขตของ 10 ประเทศ มีการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน สำหรับการแบ่งปันทรัพยากรน้ำผิวดินและน้ำบาดาลร่วมกัน สำหรับการพัฒนาน้ำบาดาลริมฝั่งแม่น้ำดานูบ โดยพัฒนาระบบประปาบาดาล Bank filtration เป็นการพัฒนาน้ำบาดาลระดับตื้นความลึกไม่เกิน 30 เมตร ออกแบบก่อสร้างบ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-5 เมตร จำนวนไม่น้อยกว่า 10 บ่อ/สถานี สามารถสูบน้ำได้ 5,000-20,000 ลบ.ม./ชม. พร้อมส่งน้ำเข้าระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำตามมาตรฐานน้ำดื่มสะอาดของสหภาพยุโรป (EU) พร้อมทั้งติดตั้งระบบกระจายน้ำผ่านเส้นท่อให้แก่ประชาชนในเมืองต่างๆ สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้อย่างทั่วถึง สำหรับการบริหารจัดการระบบประปา Bank filtration บริษัทเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนระบบการผลิตน้ำสะอาด โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขและการกำกับของภาครัฐ ในการกำหนดปริมาณ คุณภาพน้ำและราคาต่อหน่วย เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวต่อว่า จากนั้น ได้เดินทางไปประเทศสหรัฐฯ โดยคณะได้เยี่ยมชมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล ณ United State Geological Survey (USGS) ได้รับฟังการบรรยายเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลของอเมริกา การจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของแหล่งน้ำบาดาล (Groundwater Modeling) การแสวงหาเครือข่าย ความร่วมมือ การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล รวมไปถึงการค้นหาแหล่งน้ำบาดาลโดยใช้ดาวเทียม ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน จากนั้น ได้ศึกษาดูงานด้านกฎระเบียบ ข้อกฎหมายว่าด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อมและน้ำบาดาล ที่ United State Environmental Protection Agency (US EPA) มีการบริหารจัดการน้ำบาดาลควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ป้องกันการปนเปื้อนในแหล่งน้ำบาดาล การแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในแหล่งน้ำบาดาล การออกพระราชบัญญัติ การบังคับใช้กฎหมาย การคิดราคาค่าใช้น้ำบาดาลโดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ครอบคลุมทุกมิติของการบริหารจัดการน้ำบาดาลเลยทีเดียวก็ว่าได้ สุดท้ายได้ไปเยี่ยมชมการผลิตน้ำประปา ของเมือง Parkersburg ที่ผลิตน้ำประปาจากน้ำบาดาล ริมฝั่งแม่น้ำโอไฮโอ และเยี่ยมชมหอถังเก็บน้ำประปารูปแบบต่างๆ

“จะเห็นได้ว่าทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกา ล้วนคำนึงถึงคุณภาพน้ำ ที่จะนำมาทำเป็นน้ำประปาให้แก่ประชาชน โดยส่วนใหญ่จะใช้น้ำจากน้ำบาดาล เนื่องจากเป็นน้ำที่สะอาด ปราศจากสารปนเปื้อน เพราะอยู่ใต้ดิน ลึกลงไปหลายสิบเมตร ทำให้สารเคมีไม่สามารถซึมหรือไหลลงไปปนเปื้อนได้โดยตรง แต่กระนั้นยังต้องมีการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบาดาลโดยรอบ และมีการแบ่งเขตควบคุมและเขตคุ้มครองพื้นที่ที่มีการใช้น้ำบาดาล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบนำของเสียมาทิ้งหรือฝังกลบขยะในบริเวณดังกล่าวโดยเด็ดขาด เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำบาดาลที่สูบขึ้นมาใช้จะมีความสะอาดและมีใช้ตลอดไป” นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าว
























กำลังโหลดความคิดเห็น