วันนี้(21 ก.ย.)สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายภาคประชาชน จัดกิจกรรมเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด “ลานเยาวชนพลเมืองคิดต่าง คิดต่าง สร้างสรรค์ เท่าทันปัจจัยเสี่ยง” เพื่อส่งเสียงของเด็กและเยาวชนไปยังผู้ใหญ่ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 65 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษธานี
นายองอาจ พรหมมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบน เปิดเผยว่า วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบกับเด็ก และเยาวชน โดยเฉพาะในปีนี้พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงใหม่จาก “กัญชาและน้ำกระท่อม” เข้ามามากขึ้น จึงต้องมีการหยิบยกมาพูดคุยกันมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี กับ สคล. เพื่อขับเคลื่อนภารกิจรณรงค์ลด ละ เลิกเหล้าในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยสนับสนุนให้แกนนำนักศึกษามีการออกแบบกิจกรรม
นายองอาจ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมลานเยาวชนพลเมืองคิดต่างนั้น มีการศึกษาและนำโมเดลมาจากกิจกรรมมานครนอนวัด ที่ได้รวบรวมเอาศิลปะ และดนตรี เข้ามานำเสนออย่างสร้างสรรค์ โดยความร่วมมือกับกลุ่มนักดนตรีในร้านเหล้า ผับบาร์ในพื้นที่ ศิลปินที่เป็นที่นิยมของวัยรุ่น ตลอดจนมีการเสวนาโดยผู้มีชื่อเสียงในสังคม อย่าง นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก มาร่วมพูดคุย บนพื้นที่ปลอดเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด สร้างการรู้เท่าทัน เป็นเสมือนกับซอฟต์พาวเวอร์ มาเที่ยวงานโดยไม่ต้องกังวล แล้วจะค่อยๆ ทำให้เกิดการซึมซับและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในที่สุด โดยหวังว่าจากนี้น้องๆ จะสามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนและขยายกิจกรรมออกไปยังคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย และขยายออกไปยังชุมชน โดยมี สคล.และเครือข่ายคอยเป็นพี่เลี้ยง ให้การสนับสนุน โจทย์ของเราคือทำยังไงให้มีการสกัดนักดื่มหน้าใหม่อย่างเป็นรูปธรรม การให้นักศึกษามาทำเรื่องนี้จะทำให้เกิดการรู้เท่าทันและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีไปในตัว
"ปัจจุบันมีความเสี่ยงใหม่เข้ามา ทั้งกัญชา น้ำกระท่อมนั้นยังไม่มีข้อมูลว่ามากน้อยแค่ไหน เพราะเป็นเรื่องใหม่มาก เมื่อก่อนเรื่องพวกนี้อยู่ใต้ดิน แต่ตอนนี้ถูกทำให้ถูกกฎหมายหรือยิ่งกลายเป็นค่านิยมที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่"
ผศ.ธาตรี คำแหง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า อธิการบดีฯ ได้มอบนโยบายให้คณบดี ทุกคณะเพื่อให้บริหารจัดการความเสี่ยงทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้นกับนักศึกษา เดินหน้าให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด เพราะตอนนี้มีหลายตัวที่ถูกทำให้ถูกกฎหมาย ตลอดจนปัญหาอุบัติเหตุ จึงมีการกำหนดให้มีการสวมหมวกกันน็อค100% ในพื้นที่มหาวิทยาลัย และเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้นักศึกษาได้จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ปลอดปัจจัยเสี่ยง 100% พร้อมสนับสนุนงบประมาณให้ด้วย ซึ่งจากการเก็บข้อมูล พบว่า ปัญหานักศึกษาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงลดลง ก้าวร้าวลดลง ซอฟต์ลง ที่สำคัญคือปัญหาดร็อปเอาท์ลดลงจาก 38% เหลือ 15.6% ถือว่านโยบายนี้ประสบผลสำเร็จที่ควรจะดำเนินต่อไป พร้อมขยายผลไปยังชุมชนรอบๆ ซึ่งขณะนี้มีการปักหมุดเอาไว้แล้วหลายพื้นที่ โดยมีนักศึกษาเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม แล้วคณะอาจารย์ และสคล.เป็นที่ปรึกษา
ด้าน นายรัฐกฤษ เข็มเพ็ชร ประธานนักศึกษาสาขารัฐศาสตร์ และผู้ประสานงานกิจกรรมลานเยาวชนพลเมืองคิดต่าง กล่าวว่า ตนมองว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังมีไฟ มีความกระตือรือร้น มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถ มีศักยภาพที่พร้อมจะขับเคลื่อนอนาคตของประเทศได้ แต่เหล้า บุหรี่ กัญชา และยาเสพติด เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้าบั่นทอนไม่ให้เด็กเยาวชนสามารถเดินไปสู่จุดนั้นได้ เพราะติดอยู่ในวังวนของอบายมุข ยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นผู้เสพ หรือผู้ค้า และมีจุดจบอยู่ในคุก ดังนั้นตนจึงเข้ามาร่วมผลักดันให้เกิดลานกิจกรรม “ลานเยาวชนพลเมืองคนคิดต่าง” เป็นจุดเริ่มต้นในการรณรงค์ ลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และขยายผลออกไปสู่พื้นที่นอกรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดประโยชน์ สร้างความปลอดภัยต่อสังคมโดยรวม