ครม.ผ่านแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) เสริมแกร่ง SMEs ไทยเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจแข่งขันในระดับสากล ชูเกษตรสู่การทำธุรกิจแบบมืออาชีพ
วันนี้ (21 ก.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ให้มีบทบาททางเศรษฐกิจในทุกระดับ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (20 ก.ย. 65) มีมติเห็นชอบแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของประเทศ และใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการและจัดทำงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริม SME อย่างบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย โดยตัวชี้วัด คือ สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของ SME ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ในปี 2570
ร่างแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) กำหนดแนวทางการดำเนินงานไว้ 3 ประเด็นการส่งเสริมและ 15 กลยุทธ์ ดังนี้
ประเด็นส่งเสริมที่ 1) การสร้างการเติบโตที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม มีกลยุทธ์และแนวทางการขับเคลื่อน อาทิ การพัฒนาธุรกิจในระยะเริ่มต้นให้เริ่มธุรกิจได้อย่างมั่นคง ยกระดับธุรกิจให้มีศักยภาพในการแข่งขันในระดับโลก ฟื้นฟูธุรกิจที่ประสบปัญหาให้ฟื้นตัว ช่วยเหลือธุรกิจที่ยังชีพให้สามารถอยู่รอด สนับสนุนผู้ประกอบการสูงอายุในการดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมการเกษตรสู่การทำธุรกิจแบบมืออาชีพ
ประเด็นส่งเสริมที่ 2) สร้างการเติบโตแบบมุ่งเป้า ภายใต้กลยุทธ์และแนวทางกับการขับเคลื่อน ได้แก่ สร้างส่วนแบ่งตลาดในประเทศให้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการเข้าสู่สากล
ประเด็นส่งเสริมที่ 3) พัฒนาสภาพแวดล้อมให้สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ โดยมีกลยุทธ์และแนวทางการขับเคลื่อน ได้แก่ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างความพร้อมของบุคลากรและแรงงาน มีศูนย์กลางในการให้ข้อมูล องค์ความรู้และบริการ ปรับปรุง กฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบาย
“แผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 มีสาระที่เปลี่ยนแปลงจากแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2560-2564 โดยเพิ่มเติมจำนวน 2 กลยุทธ์และแนวทาง คือ สนับสนุนผู้ประกอบการสูงอายุในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมเกษตรกรสู่การทำธุรกิจแบบมืออาชีพ” นายอนุชา กล่าว