มาแล้ว! แนวทางมหาดไทย สั่งท้องถิ่น "ถอนฟ้อง-ระงับบังคับคดี" คืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กรณีซํ้าซ้อนสวัสดิการอื่น ตามมติ ครม. หลังพบถูกเรียกคืนเงินเกิน 3 หมื่นราย กว่า 250 ล้าน ระบุ ให้ "สภาท้องถิ่น" สั่งถอนเงินสะสมคืนผู้สูงอายุ เหตุเป็น "ลาภมิควรได้" หากพบ กรณีศาลพิพากษาให้ อปท.ชนะคดี ให้ อปท. แจ้งความประสงค์ ต่อ "อัยการ" ขอยุติคดี หากพบออกหมายบังคับแล้ว ให้ยื่นขอสละสิทธิ์ ทันที
วันนี้ (19 ก.ย.2565) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุทธพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เวียนหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว6899 ลงวันที่ 16 ก.ย. 2565 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
เพื่อให้ปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ ที่มีความซํ้าซ้อนกับสวัสดิการอื่น
ภายหลัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับหลักการการคืนเบี้ยยังชีพให้กับ "ผู้สูงอายุ" ที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการ จำนวน 28,345 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 245,243,189.70 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)เสนอ
"ครม.เร่งดำเนินการจ่ายเงินคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้วให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที,เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว"
ล่าสุด กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งแนวทางนี้ต่อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านจังหวัด รับทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับแนวทางดังกล่าว ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ระบุไว้ว่า
กรณีที่ อปท.ดำเนินการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้ว โดยเงินดังกล่าว รอนำส่งคืน และเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพแล้ว อปท.นำเข้าเป็นเงินสะสม ถือเป็นกรณีได้รับเงินรายรับและมีการขอคืนในลักษณะของลาภมิควรได้ภายในกำหนดอายุความ
ให้ อปท. ถอนคืน เงินรายรับตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บ รักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 94 ข้อ 95 และ ข้อ 96 โดยถือปฏิบัติ ดังนี้
กรณีขอเงินคืนภายในปีงบประมาณที่รับเงิน เมื่อตรวจสอบแล้ว เห็นว่า ถูกต้องให้จ่ายคืนเงิน รายรับดังกล่าว โดยต้องได้รับอนุมัติจากผู้บริหารท้องถิ่น
กรณีขอเงินคืนภายหลังจากปีงบประมาณที่รับเงินรายรับ เมื่อตรวจสอบแล้ว เห็นว่า ถูกต้องให้ อปท.จ่ายขาดเงินสะสมได้ โดยต้องได้รับอนุมัติจากสภาท้องถิ่น
สำหรับ "การถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดี" ในกรณี อปท.ได้มีการดำเนินคดีเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากไม่มีมูลหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกคืนได้ ให้ดำเนินการ ดังนี้
ให้ นายก อปท. หัวหน้าหน่วยงาน "กรณีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)" มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)
กรณีเทศบาล ซึ่งเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ เทศบาล พ.ศ.2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติมประกอบ มาตรา 7 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535
ให้"เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการถอนฟ้องคดีและถอนการบังคับคดี กรณีการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากไม่มีสิทธิเรียกคืน ตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่23 สิงหาคม 2565"
ส่วน "กรณียื่นฟ้องคดีต่อศาล แต่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา" หาก อปท. ขอให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดี ให้ อปท.มีหนังสือแจ้งความประสงค์ไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้ยื่นคำขอต่อศาลขอถอนฟ้องคดี และหากมีค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดีให้ตกเป็นพับ
หากกรณีศาลได้มีคำพิพากษา ให้ อปท.ชนะคดี ให้ดำเนินการ ดังนี้
ถ้า "ศาลยังไม่ได้ออกหมายบังคับคดี" ให้ อปท. มีหนังสือแจ้งความประสงค์ไปยังพนักงานอัยการ ว่าไม่ประสงค์จะออกหมายบังคับคดีและขอยุติคดี
และ ถ้า "ศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว" ให้ อปท.มีหนังสือแจ้ง เจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ขอสละสิทธิ์ในการบังคับคดี ตามมาตรา 292 (6) หรือ ขอถอนการบังคับคดี ตามมาตรา 292 (7) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
เดือนที่แล้ว ครม.รับหลักการโดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และกระทรวงการคลัง หาแนวทางการจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้สูงอายุ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565
ก่อนหน้านั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มีคำวินิจฉัยว่า เงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐเป็นเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546
และการจ่ายเงินเบี้ยงยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายเงินให้โดยชอบ ในกรณีที่ผู้สูงอายุนำเงินมาคืนราชการ หน่วยงานที่รับเงินไว้มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินคืนให้ "ผู้สูงอายุ"
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรค 2 มีเพียง 2 ประการคืออายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่รัฐจะตรากฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว
ดังนั้น ระเบียบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) และระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบของ กผส. นั้น ที่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ระหว่างนี้ พม. ยังอยู่ระหว่างการนำเสนอแนวทางการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งเมื่อได้แนวทางชัดเจนแล้ว กระทรวงมหาดไทยจะได้ดำเนินแก้ไขระเบียบให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวต่อไป.