xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.นฤมล” แนะเกาะติด ดบ.สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ศก.โลกเสี่ยงถดถอย หนุนไทยทยอยขยับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหรัญญิก พปชร.แนะจับตาการปรับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น สัปดาห์นี้ คาดเฟดปรับขึ้นอีก 0.75% เพื่อสกัดเงินเฟ้อให้ได้ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น น่าจะคงดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด แต่ส่งผลเงินเยนอ่อนค่า ส่วน กนง.เดินสายกลางมาถูกทางแล้ว แต่ทุกคนต้องเตรียมรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย รัฐบาลต้องเร่งดูแลกำลังซื้อภายใน


วันนี้ (19 ก.ย.) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ Facebook ส่วนตัวสะท้อนมุมมองถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของโลก โดยระบุให้จับตาการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสองประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ในสัปดาห์นี้ โดยธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ เฟด จะประชุมวันพุธที่ 21 ก.ย. คาดกันว่า จะขึ้นดอกเบี้ยอีก +0.75% ด้วยความน่าจะเป็นสูงถึง 82% เพื่อเป็นมาตรการแรงที่เฟดประกาศและตั้งใจจะจัดการกับเงินเฟ้อให้ได้ แต่ก็ต้องแลกด้วยความถดถอยทางเศรษฐกิจ ทั้งในสหรัฐอเมริกาเอง และเศรษฐกิจโลกที่ย่อมได้รับผลกระทบ

ขณะที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) จะประชุมสองวันสัปดาห์นี้ โดยจะประชุมเสร็จในวันพฤหัสที่ 22 ก.ย. แต่คาดว่า น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไป ถึงแม้จะมีแรงกดดันหลายมิติ การขึ้นดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ นอกจากจะส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าแล้ว ยังส่งผลให้อัตราผลตอบตราสารหนี้ในตลาดสูงขึ้น จนอาจจะชนเพดานสูงสุดที่ BOJ กำหนดไว้ นอกจากนั้น การอ่อนค่าของเงินเยนยังส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น ทำให้ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามมา

อย่างไรก็ตาม เหตุผลหลักที่นายคูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ยังยึดมั่นนโยบายไม่ขึ้นดอกเบี้ยมาโดยตลอด คือ ไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 แม้ BOJ ยังคงไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววของการที่จะเสี่ยงใช้วิธีแทรกแซงค่าเงินเยนโดยตรง ค่าเงินเยนล่าสุดตกลงไปอยู่ที่ 144 เยนต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปี ถ้าอ่อนต่อเนื่องไปจนหลุด 150 เยนต่อดอลาร์ อาจจะได้เห็นการปรับเปลี่ยนมาตรการของ BOJ 

หันมามองของไทยเราบ้าง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดินทางสายกลาง มาถูกทางแล้ว ขึ้นดอกเบี้ยไม่มากไป และค่อยๆ ขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจได้มีโอกาสฟื้นตัว แต่สิ่งที่เราทุกคนต้องเตรียมรับผลกระทบ คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย จากการขึ้นดอกเบี้ยในหลายประเทศทั่วโลก รัฐบาลจึงต้องเร่งดูแลกำลังซื้อภายในประเทศของทั้งภาคเอกชน และภาคครัวเรือน เพื่อประคองสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยให้เชิดหัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่องภายใต้ความไม่ปกติของเศรษฐกิจโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น