วันนี้(15 ก.ย.)นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีการลักลอบทิ้งกากขยะพิษ ในพื้นที่ชุมชนรอบเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลายแห่ง ซึ่งมีการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ดังกรณีล่าสุดที่ อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า ตั้งแต่ปี 60-64 มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมากถึง 280 ครั้ง ด้วยทรัพยากรที่มากมายในอดีตทำให้การพัฒนาเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่การที่มีต้นไม้ก็ตัด มีภูเขาก็ระเบิด หรืออื่นๆ โดยไม่มีการบริหารจัดการ อย่างเหมาะสม ใช้แบบล้างผลาญจึงทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเหลือน้อยลงเรื่อยๆ และเป็นต้นเหตุที่ทำให้ธรรมชาติผิดเพี้ยน ภาวะเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อนคือความจริงที่มาพร้อมผลกระทบที่เห็นอยู่ตรงหน้า
“สิ่งที่มากับน้ำตอนน้ำท่วมคืออะไร รัฐมนตรีใส่สูทนั่งอยู่ห้องแอร์ทราบหรือไม่ว่า มันคือน้ำเสียจากขยะพิษ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เขตโรงงานอุตสาหกรรมทราบดี กากของเสียจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมทั้งนั้นที่ลอยกับน้ำมาท่วมบ้านเขา ไม่รู้ว่าทำระบบจัดการของเสียไม่ดี หรือลักไก่ทิ้งตามน้ำมา จึงอยากให้ท่านถอดสูทออกแล้วออกไปดู ล่าสุด ที่หัวสำโรง อ.แปลงยาว ฉะเชิงเทรา เพิ่งร้องเรียนมา หรือไปดูตามชุมชนที่มีการกระจุกตัวแน่นของโรงงานบ้าง สมุทรสาคร สมุทรปราการ อยุธยา ปทุมธานี ราชบุรี และในเขต EEC ของท่านที่ไม่ตกขบวนเรื่องนี้ด้วย จัดการเรื่องนี้เรียกได้ว่าแย่มาตั้งแต่ยุค คสช. ถึงยุค คสช.ซ่อนรูปในรัฐบาลนี้”
นายนิติพล ตั้งคำถามว่า กรณีที่เกิดขึ้นเหล่านี้ กรมโรงงาน ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ทำอะไรอยู่ มีกฎหมายในมือแต่ไม่ทำอะไรเลย และรัฐมนตรีนั่งเฉยอยู่ได้อย่างไร เพราะการไม่ใส่ใจดูแลโรงงานต่างๆให้ดี ยิ่งเวลานี้มีน้ำท่วม กากของเสียก็ลอยมากับน้ำ กลิ่นสารพิษก็ฉุนแสบตาแสบจมูกไปหมด แต่ถ้าพอหมดฤดูฝน ก็จะมีฝุ่นควันจากภาคอุตสาหกรรมลอยเต็มฟ้า ปีไหนสภาพอากาศปิด ไม่มีลม นอกจากพี่น้องประชาชนรอบๆพื้นที่ต้องรับกรรมเป็นปกติแล้ว ขอบอกว่า คน กทม. เองก็จะไม่พ้นชะตากรรมนี้ เพราะฝุ่นควันมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเขตไหน จังหวัดใด มันไปได้ทั่วไปหมด นี่คือความเป็นจริงของภาวะสิ่งแวดล้อมและเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องตระหนักร่วมกัน ปล่อยให้เป็นเรื่องของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไม่ได้
นายนิติพล ถามต่อว่า โรงงานที่มีอยู่และกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ จะมีจำนวนการปลดปล่อยมลพิษและปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ เพราะเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดโลกร้อนและธรรมชาติแปรปรวนจึงจำเป็นต้องรู้ตัวเลขที่ชัดเจน แต่เชื่อว่ารัฐมนตรีไม่สามารถตอบได้ เพราะกระทรวงไม่เคยรู้ว่าแต่ละโรงงานนำอะไรเข้ามาในกระบวนการผลิตบ้าง เมื่อไม่รู้ตอนเข้า ก็ไม่รู้ตอนปลดปล่อย ในเรื่องนี้ พรรคก้าวไกลเคยยื่นเสนอร่างกฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) เพื่อให้สามารถมีข้อมูลนี้ได้ แต่ก็ถูกนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของท่านปัดตกไป นี่คือปัญหาประการแรก
นายนิติพล ตั้งขอสังเกตว่า การเพิ่มป่าด้วยการปลูกป่าที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังทำกันอยู่โดยบอกว่า รักษ์โลก รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงการฟอกเขียวให้ภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ เพราะการสร้างสมดุลต้องทำทั้งสองทาง คือมีทั้งฝั่งควบคุมและดูดซับ ซึ่งในส่วนที่ดูดซับก็มีปัญหาเพราะไปใช้กฎหมายจัดการคนเพื่อสร้างป่าที่ไม่มีจิตวิญญาณ แถมยังมีลักษณะของการไล่คนออกหาประโยชน์เพื่อกลุ่มทุนได้อีกต่อหนึ่ง
“ผมพูดเสมอว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจากแต่สองปัจจัย คือ ปัจจัยที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ เมื่อภาคอุตสาหกรรมยังต้องผลิต ก็หนีไม่พ้นการสร้างมลพิษ การปลูกต้นไม้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการปลดปล่อยและการดูดซับมลพิษ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเหมือนจะมาถูกทางแต่ไม่ใช่ เป็นยาพิษเคลือบน้ำตาลเท่านั้น เพราะนโยบายทวงคืนผืนป่าในคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ทำให้ชาวบ้านถูกฟ้องถึง 46,600 คดี เพื่อไล่คนที่อยู่กับป่า เอาบ้านของเขาไปให้เจ้าสัวแอ็คถ่ายรูปปลูกต้นไม้ ลง IG แถมยังขายคาร์บอนเครดิตได้อีก แบบนี้ไม่ใช่การเพิ่มป่า เพื่อให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ ป่าอาจเพิ่มเป็นสีเขียวๆบนแผนที่ แต่เป็นป่าที่ไม่มีจิตวิญญาณ และเป็นแค่การฟอกเขียวให้ภาคอุตสาหกรรมเอาไปหลอกคนอื่นว่าตัวเองรักษ์สิ่งแวดล้อม”
นายนิติพล กล่าวย้ำว่า การเพิ่มพื้นที่ดูดซับมลพิษเป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้น แต่จะปล่อยให้กระจุกแค่เจ้าสัวนายทุนไม่ได้ ต้องกระจายให้คนที่อยู่กับป่าได้ประโยชน์ด้วย คืนสิทธิในการอยู่กับป่าให้เขา เพิ่มเครื่องมือในการหารายได้ด้วยคาร์บอนเครดิตให้เขา เพราะป่ายิ่งมาก ก็ยิ่งเป็นแรงจูงใจให้เขาสามารถคงวิถีดั้งเดิม อยู่กับป่าอย่างสมดุล มีมาตรการกำกับดูแลกันของเขาเอง ถ้าทำแบบนี้จำเลยใน 46,600 คดี จะไม่ต้องเดือดร้อนมานอนตากฝนอยู่หน้าศาล ภาคอุตสาหกรรมก็มีคาร์บอนเครดิตเพื่อใช้ในการในการผลิตของตัวเอง ชาวบ้านก็ได้อยู่บ้านของตัวเอง ใช้คาร์บอนเครดิต เป็นเครื่องมือในการอยู่ร่วมกันของโลกยุคใหม่ เพื่อสร้างความสมดุลในสิ่งแวดล้อม แต่อย่าใช้เพื่อฟอกเขียวนายทุนแล้วปล่อยให้ภาคอุตสาหกรรมทำหน้าที่ทำลายต่อไปอย่างไม่คิดจะหาวิธีหยุดยั้ง
“โครงการที่พร้อมซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ มีแค่ไม่กี่โครงการเท่านั้น แต่โรงงานทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้งประเทศสร้างมลพิษหนักมาก เตรียมตัวถึงไหนแล้ว จึงอยากให้รัฐมนตรีที่ดูแลโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ตอบถึงความพร้อมหน่อย คำถามก็คือ การเปิดบัญชีซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้โรงงานทำธุรกิจต่อไปได้ในโลกยุคนี้ ต้องทำอย่างไร หรือไม่ต้องทำอะไร เพราะท่านมองว่าสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หน้าที่และไม่คิดจะรับผิดชอบอะไรอยู่แล้ว”
นายนิติพล ยังกล่าวต่อว่า ผลของความเพิกเฉยแบบนี้ เนื่องมาจาก 8 ปีในรัฐบาลของท่าน ได้วางมาตรฐานโรงงานที่มีแต่ต่ำลงๆ เพราะ คำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 และ 9/2559 ที่ยกเลิกการบังคับใช้ผังเมือง และ EIA ผลคือ โรงงานเก็บสารเคมีอันตรายกันเต็มที่ โดยชุมชนรอบๆ ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าโรงงานข้างๆบ้านตัวเองเก็บอะไรไว้บ้าง มารู้อีกทีก็เหตุเกิดจนต้องอพยพกันมาแล้ว ดังเช่น กรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ ที่สมุทรปราการ ซึ่งในไฟนั้นไม่ได้มีแต่ความร้อนออกมา แต่ได้ปล่อยมลพิษออกมาด้วย อีกหนึ่งกรณีก็คือ โรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช ที่ส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ยังมีกรณีลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม 80,000 ตัน ในพื้นที่มาบตาพุด และมีกากรอทิ้งอีก 500,000 ตัน 8 ปีมานี้ มลพิษมากับน้ำ มากับฝุ่น มากับไฟ มากับควัน ตกค้างในร่างกาย และจะอยู่ไปตลอดกาล นี่คือความไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อมของผู้นำประเทศและรัฐมนตรีต่างๆที่รับผิดชอบ
นายนิติพล ยังเสนอให้เห็นภาพเพิ่มเติมว่า เพียงหนึ่งปีของ คำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2559 – 20 มกราคม 2560 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กิจการโรงงานลำดับที่ 88 โรงงานไฟฟ้า, 89 โรงงานผลิตก๊าซ, 101 โรงงานบำบัดน้ำเสีย, 105 โรงงานคัดแยกขยะ และ 106 โรงงานรีไซเคิล ปัจจุบัน 15 กันยายน 2565 โรงงานเหล่านี้ยังอยู่ในเขตชุมชนและเพิ่มปริมาณขึ้นได้เรื่อย เพราะอ้างว่าได้ขออนุมัติโครงการตั้งแต่ก่อน 20 มกราคม 2560 แล้ว เพียงปีเดียวโรงงานแย่ๆเกิดขึ้นมากมายขนาดนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม่ 8 ปีของรัฐบาลนี้จึงเป็นการพังทลายของสิ่งแวดล้อม
“คนสงสัยกันทั้งประเทศ ท่านเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะครบ 4 ปีแล้ว นิ่งเฉยมาตลอด ปล่อยให้ชาวบ้านรับสารพิษเข้าสู่ร่างกายอย่างเลี่ยงไม่ได้เลย ไม่เห็นหัวประชาชน ปล่อยให้คนชาวบ้านตายผ่อนส่ง เอาใจแต่เจ้าสัวนายทุน เห็นค่าเงินมากกว่าชีวิตของชาวบ้าน ปล่อยให้โรงงานปล่อยมลพิษ เร่งให้เกิดโลกร้อนหนักขึ้นกว่าเดิมทุกวินาที แบบนี้เหมือนเรามีรัฐมนตรีอุตสาหกรรมที่ไม่รู้เรื่องการสร้างมลพิษที่ทำให้โลกร้อนและมีก็เหมือนไม่มี ดังนั้น คำถามสุดท้าย คือ ท่านจะจัดการกับโรงงานที่อ้างว่าได้เริ่มโครงการมาก่อนยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 อย่างไร เพื่อให้โรงงานเหล่านั้นไม่ปล่อยสารพิษ เพราะท้ายที่สุดคนที่รับกรรม คือพี่น้องประชาชนที่วันนี้ฝนตกทุกวัน น้ำยังท่วม เท้ายังแช่อยู่ในน้ำ จมูกยังได้กลิ่นเหม็นๆเป็นมรดกจากการนโยบายเลวๆของพวกท่าน”นายนิติพล ระบุ