ส.ส.ก้าวไกล คาใจสถาบันตุลาการ ตัดสินคดี มาตรา 112 ใช้อำนาจไม่เป็นไปตาม รธน. โวยเป็นการรังแกคนเห็นต่าง พร้อมใส่ชุดที่เพิ่งเจอคดีโชว์ กมธ.พัฒนาการเมือง เตรียมเดินสายเปิดเวทีสะท้อนปัญหา-เดินสายเยี่ยมนักโทษช่วงเดือน ต.ค.- พ.ย.นี้
วันนี้ (14 ก.ย.) ที่รัฐสภา นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะอนุกรรมาธิการการศึกษาผลกระทบของกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีต่อสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชน และประชาชน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงกรณีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตัดสินจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา น.ส.จตุพร แซ่อึง หรือ นิว จตุพร แนวร่วมกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก ในคดีมาตรา 112 หมิ่นเบื้องสูงแต่งชุดไทยเลียนแบบ จากการเข้าร่วมการชุมนุมจัดกิจกรรมเดินแฟชั่นโชว์ศิลปะราษฎร บริเวณหน้าวัดแขก ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 ว่า ตนเลือกแต่งชุดไทยในการแถลงข่าวครั้งนี้ เพื่อยืนยันสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกายตัวเองที่มีรัฐธรรมนูญรองรับ ตนขอเป็นตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ เพื่อสื่อว่ารู้สึกสับสน สั่นคลอนในวิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมในการตัดสินคดีดังกล่าวที่เป็นปฐมบทเบื้องต้นที่น่ากลัวมากของคำตัดสินมาตรา 112 ที่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการตัดสินคดีที่สุดในประวัติการณ์ถึง 210 คดี และยังเป็นการสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่ตั้งคำถามถึงความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม
“กฎหมายไทยไม่มีมาตราไหนที่ระบุความผิดในข้อหาล้อเลียน สาระสำคัญในมาตรา 112 คือ การดูหมิ่น เหยียดหยาม อาฆาตมาดร้ายเท่านั้น แต่ไม่มีข้อใดครอบคลุมไปถึงการล้อเลียน หรือห้ามไม่ให้ไม่เคารพ เพียงแต่ป้องกันการด้อยค่า ดิฉันจึงขอตั้งคำถามว่า การตีความของศาลอาญาใต้จึงเป็นการตีความที่เกินขอบเขต และไม่สอดคล้องกับอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 188 หรือไม่ ที่ระบุให้สถาบันตุลาการใช้อำนาจหน้าที่อย่างมีอิสระเท่านั้น แต่ไม่ได้ให้อำนาจคุมขังที่ไม่ชอบธรรม และต้องตัดสินโดยปราศจากอคติ ลำเอียง รวมถึงการให้ประกันตัวอย่างไม่มีมาตรฐานในหลายครั้งที่ผ่านมาอีกด้วย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะตระหนักถึงกฎหมายมาตรา 112 ที่มีไว้กลั่นแกล้งรังแกผู้เห็นต่างทางการเมือง ไม่สอดคล้องสากล” นางอมรัตน์ กล่าว
ด้าน นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะอนุกรรมาธิการ กล่าวว่า อนุฯ ได้เรียกหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลผลกระทบจากกฎหมาย ป.วิอาญา ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล กระทรวงยุติธรรม แต่ไม่ได้รับความร่วมมือในการตอบคำถามสำคัญ ส่งผลให้ทำงานยากลำบาก เอกสารที่เราขอแนวทางในการพิจารณาคดี เช่น รายชื่อคณะกรรมการกลั่นกรอง รายงานการประชุมก็ไม่ได้ ให้เพียงกรอบกว้างๆ ขอรายชื่อนักโทษคดีมาตรา 112 ก็เป็นเอกสารลับสุดยอด ซึ่งได้รับการชี้แจงเพียงแค่นักโทษที่ถูกคุมขังมาตรา 112 ได้รับสิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่จากการพูดคุยหลังไมค์ก็เป็นอีกเรื่อง ขณะนี้เราเรียกหน่วยงานมาเกือบครบแล้วก่อนจะรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และองค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเอเปคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ แต่กำลังจะมีผู้ต้องหา 9 คน ที่กำลังจะถูกพิพากษาในคดีมาตรา 112 นอกจากนี้ มาตรา 112 ยังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง โดยมีกลุ่มการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อฟ้องร้องคดีมาตรา 112 โดยเฉพาะ
“เรื่องเหล่านี้ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จะเปิดเวทีนำเสนอปัญหาทุกกระบวนการในกระบวนการยุติธรรม และกฎหมายของมาตรา 112 ให้มีการแลกเปลี่ยนกันในสังคมช่วงเดือน พ.ย.นี้ ส่วนในเดือน ต.ค. กมธ.จะเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เราจริงใจจะนำเสนอปัญหาเพื่อให้เห็นว่า มาตรา 112 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันตุลาการอ่อนแอ ดุลยพินิจของผู้พิพาษากลายเป็นกฎหมายเสียเอง เต็มไปด้วยคำถามเกี่ยวกับการตรวจสอบถ่วงดุล และความโปร่งใสในสถาบันตุลาการ อีกประเด็นที่สำคัญคือการคัดค้านการประกันตัวที่ไม่มีหลักเกณฑ์ใดให้ยึด สำนวนอยู่ตรงไหนเพื่อให้เป็นหลักในการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา แต่สำหรับมาตรา 112 ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีของ นิว จตุพร” นายปดิพัทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าว นางอมรัตน์ ได้แต่งชุดไทยจิตรลดาสีน้ำเงิน มาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย