เปิดทางท้องถิ่น วิจารณ์หลักสูตร “โตไปไม่โกง” ของ ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ในโรงเรียนท้องถิ่น 1,745 แห่ง หลัง “มหาดไทย” รับลูกดันหลักสูตรลงสถานศึกษา สังกัด อบต.-เทศบาล-อบจ. ตั้งแต่ปี 2562 หวังบูรณาการ “เพิ่มเติม” หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ทั้งระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา ที่มีนักเรียนนักศึกษา กว่า 1 ล้านคน
วันนี้ (14 ก.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า วานนี้ (13 ก.ย.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เวียนหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด
แจ้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ ให้โรงเรียนในสังกัดเร่งดำเนินการรายงานผล ภายหลังได้มีการปรับใช้หลักสูตรการเรียนการสอน “โตไปไม่โกง” ต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education)
โดยให้โรงเรียน สังกัด อปท. รายงานผลการปรับใช้หลักสูตร ของ ป.ป.ช. ฉบับปี 2564 ในรอบแรกสำหรับภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565
และปีการศึกษาต่อๆ ไป ในสถานศึกษาในสังกัดที่จัดการเรียนการสอนในระดับระดับปฐมวัย(ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล) ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา สังกัด อบจ.- เทศบาล 1,745 แห่ง
ปีล่าสุด พบว่า มีนักเรียนนักศึกษา กว่า 1 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลของ อปท. ระบุว่า ปี 2555 มีจำนวนโรงดรียน อปท.ทุกระดับ 1,407 แห่ง (ปี 2565 มี 1,745 แห่ง ) เป็นของ อบจ. 347 แห่ง เทศบาล 923 แห่ง และ อบต. 137 แห่ง มีจำนวนนักเรียนนักศึกษาทุกระดับ 665,596 คน
“รายงานดังกล่าว จะถูกนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมตามความเหมาะสม และบริบทของท้องถิ่น”
รวมถึงขับเคลื่อนหลักสูตร “ต้านทุจริตศึกษา” เพิ่มชุดการเรียนรู้และสื่อ ประกอบการเรียนรู้ด้านการป้องกันการทุจริตเนื้อหาใหม่ ที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในการสร้าง สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต
ที่ผ่านมา ผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ หรือผู้ที่ทำหน้าที่ศึกษานิเทศก์ ได้ติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนหลักสูตร เป็นรายภาคเรียน โดยเฉพาะหลักสูตร “โตไปไมโกง” ฉบับเดิม ปี 2561 ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562
ขณะที่ ป.ป.ช. ได้ปรับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา พ.ศ. 2564 โดยเพิ่มชุดการเรียนรู้และสื่อ ประกอบการเรียนรู้ด้านการป้องกันการทุจริต เป็นเนื้อหาใหม่ ที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในการสร้าง สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต จำนวน 3 เรื่อง
“ได้แก่ การต้านทุจริตในสถานการณ์การเปลี่ยนฉับพลันทางเทคโนโลยี ดิจิทัล (Digital Disruption) การพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางธรณี การพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติน้ำและน้ำบาดาล”