xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้ท่วมหัว? “เพจดัง” แฉ “ชัชชาติ” สอนแก้น้ำท่วมลาดกระบังปีก่อน “ดร.สามารถ” ซัด ลืม “เส้นเลือดใหญ่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว “ชัชชาติ” สอนแก้น้ำท่วมลาดกระบัง ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก The METTAD
The METTAD แฉ “ชัชชาติ” รู้หมดอะไรเป็นอะไร สอนแก้น้ำท่วมลาดกระบัง เมื่อปีก่อน แจกแจงละเอียดยิบ พร้อมกราฟิกการระบายน้ำ “ดร.สามารถ” ซัด แก้น้ำท่วม กทม. อย่ามัวแต่ชู “เส้นเลือดฝอย” จนลืม “เส้นเลือดใหญ่”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (13 ก.ย. 65) เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ข้อความระบุว่า “ชัชชาติ สอนแก้น้ำท่วมลาดกระบัง เมื่อปีก่อนครับ”

โดย นำเอาเรื่องที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นำเสนอเอาไว้เมื่อ 9 กันยายน 2021 ระบุว่า

“วันนี้ ผมลงไปสำรวจน้ำท่วมในเขตลาดกระบัง ช่วงถนนลาดกระบังต่อถนนหลวงแพ่ง ซึ่งมีน้ำท่วมเป็นระยะตลอดเส้นทาง
ถนนลาดกระบังและหลวงแพ่ง เป็นถนนที่ขนานกับคลองประเวศบุรีรัมย์ และ อาศัยคลองประเวศนี้เป็นเส้นทางหลักในการระบายน้ำ

ผมสังเกตว่า ช่วงที่น้ำท่วมถนน จะอยู่ระหว่างประตูน้ำสองแห่ง คือ

1. ประตูน้ำระบายน้ำคลองประเวศ ตรงลาดกระบัง เป็นของ กทม. และเป็นส่วนหนึ่งของแนวคันกั้นน้ำตามพระราชดำริ

2. สถานีสูบน้ำคลองประเวศ ตอนคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต อยู่ตรงรอยต่อระหว่าง กทม.กับฉะเชิงเทรา ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำ 20 เครื่อง (60 ลบ.ม.ต่อวินาที) เป็นของกรมชลประทาน

เส้นทางการระบายน้ำของคลองประเวศนั้น น้ำจะวิ่งจากทิศตะวันออกสู่ตะวันตก หรือวิ่งเข้ากรุงเทพฯ ดังนั้น เพื่อป้องกันพื้นที่ชั้นในของ กทม. ประตูระบายน้ำตรงลาดกระบัง จึงไม่ได้เปิดเต็มที่ ระดับน้ำด้านนอกสูงกว่าด้านใน
ส่วนสถานีสูบน้ำตอนคลองพระองค์เจ้านั้น สามารถช่วยสูบน้ำไปลงคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ซึ่งอยู่ในแนวเหนือใต้ และระบายผ่านคลองชายทะเลลงสู่อ่าวไทย แต่ก็ไม่สามารถเดินเครื่องสูบน้ำได้เลยแม้แต่เครื่องเดียว เพราะระดับน้ำด้านนอกสูง เจ้าหน้าที่เกรงว่าจะทำความเสียหายให้กับบ้านเรือนด้านนอก
ผมเข้าใจว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาน้ำท่วมน่าจะมาจากน้ำในคลองประเวศ ถูกกั้นระหว่างประตูน้ำตรงลาดกระบัง กับ สถานีสูบน้ำ ตอนคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เมื่อฝนตกหนักทำให้ระบายไม่ออกและเอ่อล้นมาท่วมถนนลาดกระบังและถนนหลวงแพ่งในบริเวณนั้น

ภาพ กราฟิกประกอบการอธิบายวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมลาดกระบัง ของชัชชาติ ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก The METTAD
การแก้ไขในระยะสั้น
1. ต้องเร่งผลักดันน้ำในคลองประเวศ เข้าสู่คลองพระโขนง และสถานีสูบน้ำพระโขนง รวมทั้งกำจัดขยะบริเวณสถานีสูบน้ำ เพื่อให้เร่งสูบน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้เต็มที่

2. ต้องเร่งผลักดันน้ำในคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต และ คลองชายทะเล ระบายน้ำออกทะเล เพื่อทำให้สามารถเดินเครื่องสูบน้ำออกจากคลองประเวศได้
3. มีการประสานงานระหว่าง กทม.กับกรมชลประทาน ในการเร่งระบายน้ำ อย่างใกล้ชิด

การแก้ไขปัญหาในระยะยาว
1. พื้นที่ทางตะวันออกของ กทม. ที่อยู่นอกเขตแนวคันกั้นน้ำตามพระราชดำริ ในเขต หนองจอก มีนบุรี คลองสามวา และ ลาดกระบัง อาจต้องมีการพิจารณาทำแนวคันกั้นน้ำเพิ่มเติม หรือระบบระบายน้ำหลักเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสภาพเมืองที่ขยายออกมา

2. หาเส้นทางระบายน้ำใหม่ที่ไม่ต้องผ่านเข้ามาในใจกลาง กทม. เหมือนในปัจจุบัน ที่ทั้งคลองแสนแสบ คลองประเวศ น้ำต้องวิ่งเข้าเมืองมาออกที่สถานีสูบน้ำพระโขนง

3. หาพื้นที่แก้มลิงเพิ่มเติม เพื่อชะลอน้ำไว้ในพื้นที่

4. เพิ่มประสิทธิภาพของคลอง เช่น ขุดลอก ทำแนวเขื่อนกั้นน้ำ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเป็นระยะตลอดแนวคลอง

การขยายตัวของ กทม. ในอนาคตจะขยายออกมาทางตะวันออกมากขึ้น เพราะมีพื้นที่กว้าง มีแหล่งงานทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงกับโครงการต่างๆ ใน EEC มีระบบคมนาคมที่ขยายออกมาทั้ง รถไฟสายสีส้ม รถไฟสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเหลือง รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ดังนั้น การวางแผนเรื่องน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และ ต้องเร่งดำเนินการครับ

ภาพ มัวแต่ชู “เส้นเลือดฝอย” จนลืม “เส้นเลือดใหญ่” เพจเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte
ขณะเดียวกัน The METTAD ยังโพสต์เกี่ยวกับน้ำท่วม กทม. และการแก้ไขว่า

“เส้นเลือดใหญ่ - มัวแต่ยืนชี้คลอง ไม่รู้ว่าต้องลอกวัชพืช
เส้นเลือดฝอย - ไม่มีข้อมูลซอยย่อย ย้ายเครื่องสูบน้ำ จนท่วมทั้งหมู่บ้าน
สรุป เส้นเลือดแตก”

ทั้งนี้ มีการแชร์เพจเฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte ระบุว่า

“แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ” อย่ามัวแต่ชู “เส้นเลือดฝอย”
จนลืม “เส้นเลือดใหญ่”

ผมเห็นใจท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่ต้องมาแก้ปัญหาน้ำท่วมในตอนรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายที่ผู้เพิ่งรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.จะทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำของ กทม. และของหน่วยงานอื่นได้แบบไร้รอยต่อ ผมจึงไม่ต้องการซ้ำเติมท่าน เพียงแต่อยากให้ท่านนำข้อเสนอของผมไปพิจารณาใช้เท่านั้น

1. ปีนี้ทำไมน้ำจึงท่วมกรุงเทพฯ ?
จากการเฝ้าติดตามการทำงานของท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ และทีมงาน พบสาเหตุที่ทำให้กรุงเทพฯ ต้องประสบวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ดังนี้

(1) เส้นเลือดใหญ่ไม่ได้รับการบริหารจัดการให้ถูกต้อง ทำให้เส้นเลือดใหญ่เป็นอัมพาต ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยเป็นอัมพาตตามไปด้วย

เส้นเลือดใหญ่ ประกอบด้วย ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ กทม. วางเพิ่มเติมโดยวิธีดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) คลองหลัก และอุโมงค์ระบายน้ำ ส่วนเส้นเลือดฝอย ประกอบด้วย ระบบท่อระบายน้ำและระบบรางระบายน้ำจากผิวจราจร และคลองย่อย เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ช่วงนี้น้ำในคลองหลัก เช่น คลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองประเวศ และคลองเปรมประชากร เป็นต้น มีระดับน้ำอยู่ในขั้นวิกฤต นั่นหมายความว่า ในบางพื้นที่น้ำได้ล้นแนวเขื่อนกั้นน้ำเข้าท่วมแล้ว จนทำให้คนกรุงเทพฯ ในพื้นที่เหล่านั้นพูดว่า “น้ำล้นคลองไม่เกิดมานาน 20 ปีแล้ว เพิ่งมาเกิดอีกปีนี้แหละ” สถานการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า เส้นเลือดใหญ่มีปัญหาแล้ว

ถ้า กทม. ไม่เร่งแก้ปัญหาเส้นเลือดใหญ่ มัวแต่แก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยที่ผู้บริหาร กทม. ชุดนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น ก็จะไม่สามารถขนน้ำไปทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ เนื่องจากน้ำจากเส้นเลือดฝอยจะต้องไหลผ่านเส้นเลือดใหญ่ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเส้นเลือดใหญ่เป็นอัมพาต ย่อมส่งผลให้เส้นเลือดฝอยเป็นอัมพาตตามไปด้วย ทำให้หลายพื้นที่ถูกน้ำท่วม

(2) ทีมงานบางคนสั่งการโดยมีข้อมูลไม่ครบถ้วน และ/หรือ ไม่รู้จักพื้นที่ดีพอ อีกทั้งมีการสั่งการกับผู้ปฏิบัติงานที่อยู่หน้างานโดยตรง เป็นการสั่งการ “ข้ามหัว” ของหัวหน้าผู้ปฏิบัติงาน ทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมขาดการบูรณาการ ที่สำคัญ ไม่รับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น

2. ข้อเสนอแนะ
ผมขอเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดังนี้

(1) ตรวจสอบการทำงานของเส้นเลือดใหญ่ว่าทำงานเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ ? ถ้าไม่ ต้องเร่งแก้ไข ในกรณีที่น้ำไหลเข้าอุโมงค์ไม่ทัน ควรพิจารณาติดตั้งเครื่องสูบน้ำในคลองเพิ่มเติม เครื่องสูบน้ำเหล่านี้จะทำหน้าที่ส่งน้ำเป็นทอดๆ เพื่อให้สามารถนำน้ำเข้าสู่อุโมงค์ และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้น้ำจากเส้นเลือดฝอยไหลมาสู่เส้นเลือดใหญ่ได้ พูดได้ว่าทั้งเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่ไม่เป็นอัมพาต

(2) กำชับให้ “ทีมงาน” ศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนสั่งการให้ผู้ปฏิบัติงานทำอย่างใดอย่างหนึ่ง และควรหลีกเลี่ยงการสั่งงานแบบ “ข้ามหัว” ที่สำคัญ ควรรับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานระบายน้ำมาอย่างยาวนาน

(3) ขอให้กรมชลประทานเร่งสูบน้ำออกจากคลองที่อยู่ติดกับทะเลอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้การระบายน้ำออกจากคลองในเขตกรุงเทพฯ ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว

3. สรุป
ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ เป็นที่คาดหวังอย่างมากของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะผู้ที่เลือกท่านให้มาแก้หลากหลายปัญหาของกรุงเทพฯ รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมที่ทำให้คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยต้องทุกข์ระทมอยู่ในเวลานี้ เหตุที่ท่านเป็นที่คาดหวังก็เพราะว่า ท่านเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการทำงานบริหารในฐานะรัฐมนตรีมาแล้ว อีกทั้งทราบจากการหาเสียงของท่าน ว่า ท่านได้ศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ มาเป็นอย่างดีก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. เป็นเวลาถึง 2 ปี

เมื่อท่านเป็นที่คาดหวังของคนกรุงเทพฯ แต่แก้ปัญหาให้เขาเหล่านั้นได้ไม่เท่ากับความคาดหวัง ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกตำหนิติเตียนบ้างเป็นธรรมดา ขอให้ถือว่าเป็นการ “ติเพื่อก่อ”

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีต่อท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ และทีมงานครับ

ภาพ การ์ตูน สะท้อนความเป็น “ชัชชาติ” อดีต-ปัจจุบัน ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก The METTAD
และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน The METTAD โพสต์ถึงภาพลักษณ์ของ “ชัชชาติ” วันนี้ กับช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ว่า

ตอนโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง แอดนั่งคุยกับเพื่อนในวอร์รูมลับใต้ดินแถวลาดกระบัง ทุกคนมองว่ายังไงชัชชาติก็ชนะขาด ต่อให้ สลิ่ม Assemble ก็แพ้

เพราะ คน กทม.เบื่อผู้ว่าฯคนเก่าแล้ว ต่างก็รู้สึกว่า มันต้องเปลี่ยนแปลงบ้าง

น้ำท่วมรอระบาย 3 ชั่วโมงก็ด่ายับ พูดอะไรออกไป โดนสื่อจับบางประโยคเอาไปด้อยค่าให้คนด่าตลอด มันจึงแพ้ทุกมิติ ไม่มีมุมไหนจะพลิกชนะได้เลย

แล้ว ชัชชาติ แกเข้ามาในจังหวะที่เหมาะสม คนเบื่อรัฐบาล เบื่อผู้ว่าฯแต่งตั้ง ชัชชาติก็ลงพื้นที่ล่วงหน้าก่อนใคร ออกแบบการหาเสียงดูดี มีความหวัง มีภาพของความไม่ขัดแย้งใคร มีบุคลิกของคนทำงาน แถมยังมีทีมงานขั้นเทพ มีเอกชนหลากภาคส่วนพร้อมใจกันให้ความร่วมมือ สื่อ อินฟลูฯ พร้อมใจกันอวย (เมื่อเทียบกับผู้สมัครคนอื่น ที่สื่อ อินฟลูฯ พร้อมใจกันแซะ ด่า)

แอดก็บอกว่า ยังไงชัชชาติก็มาแน่ แม้บางคนจะรู้สึกไม่ค่อยชอบใจ แต่การที่ชัชชาติได้เป็นผู้ว่าฯ มันก็มีข้อดีอยู่นะ

1. ถ้า ชัชชาติทำผลงานดี ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับคนกรุงเทพฯ แต่พรรคเพื่อไทย จะได้เครดิตไปด้วย แต่ไม่ได้เลวร้ายอะไรมาก

เพราะ แม้ เพื่อไทย จะพยายามเคลมเครดิต แต่ก็เป็นการสอนพรรคเพื่อไทย ในเรื่องของของการทำงานแบบไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย นักการเมืองต้องติดดินและเกรงใจประชาชนมากขึ้น (ไม่ไปสะเออะพูดว่าจังหวัดไหนเลือกผม ผมดูแลก่อนอีก)

2. ถ้า ชัชชาติ ทำผลงานไม่ดี ไม่สมราคาคุย คนก็จะรู้เท่าทันนักการเมืองมากขึ้น ว่า บางครั้งภาพที่ดูดี พลังอวยเกินเบอร์ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานเป็น ทำงานได้

และพอทำงานไม่ดี สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมาคือ เหล่าสาวก ทีมงาน ก็จะคอยโทษคนอื่น โทษคนก่อนๆ ไม่ยอมรับว่า ผู้ว่าฯ ทำงานไม่เป็น โบ้ยนั่นโทษนี่ ไปทั่ว สุดท้าย ก็จะวกกลับมาเป็นการเมืองน้ำเน่าแบบเดิมๆ ซึ่งยิ่งทำให้การเมืองน่าเบื่อยิ่งขึ้นไปอีก
-----------------
ในใจแอดตอนนั้นนะ แอดคิดว่า น่าจะออกมาแบบข้อแรก คือ ชัชชาติจะทำงานได้ดีกว่าคนก่อน เพราะ หน่วยงาน เอกชน หรือ NGOs ที่พร้อมให้ความร่วมมือกับชัชชาติมีเยอะมาก มากกว่าผู้ว่าฯคนก่อนๆ ลิบลับ เมื่อคุณมาเป็นผู้ว่าฯ แล้ว มีคนพร้อมให้ความร่วมมือขนาดนี้ มันก็ไม่ควรจะบ้ง ใช่ป่าววะ

ถ้าชัชชาติทำงานดี คนกรุงเทพฯได้ประโยชน์ แอดก็หวังแค่ ชัชชาติจะวางตัวดี เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับนักการเมืองคนต่อไปในอนาคต ว่า การทำการเมืองแบบสร้างสรรค์ ไม่ขัดแย้ง มันก็ทำได้นะเว้ย แล้วคนชอบแบบนี้ด้วย

แต่ ... หวยมันดันออก ข้อ 2 ซะงั้น (แถมคนพรรคเพื่อไทย ยังออกมาด่าซ้ำอีก)

เรามาถึงจุดๆ นี้ ได้ไงวะเนี่ย 😂

แน่นอน, แม้ว่า “ชัชชาติ” จะถูกคาดหวังสูง และเชื่อมั่นว่า จะเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” ในฝันได้ แต่ที่ต้องไม่ลืมก็คือ “ชัชชาติ” ไม่อาจทำงานคนเดียว แก้ปัญหา กทม.คนเดียวได้ ต่อให้เก่งกล้าสามารถมาจากไหนก็ตาม อันนี้ต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้น

หมายถึง ไม่สามารถโทษ “ชัชชาติ” ได้ทั้งหมด!

อีกอย่าง ที่น่าตำหนิก็คือ “ชัชชาติ” ดูเบาปัญหาน้ำท่วมเกินไปหรือไม่ เพราะดูเหมือนรู้เรื่องทุกอย่าง ทั้งปัญหาและวิธีแก้ปัญหา แต่ตั้งตัวไม่ทันที่จะแก้ปัญหา เพราะไม่คิดว่า น้ำท่วมจะหนักหนาสาหัส? ซึ่งก่อนหน้านี้ วาระอื่นถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญมากกว่า แม้แต่เรื่องไร้สาระในการออกงาน ร่วมงาน รวมทั้งการสร้างภาพประชาสัมพันธ์ตัวเอง

สุดท้ายสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ ต้องบอกว่า เก่งไม่กลัว กลัวไม่ทำ และทำในสิ่งที่ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน!?


กำลังโหลดความคิดเห็น