xs
xsm
sm
md
lg

'นิติพล' จี้ ก.อุตฯ - ก.สิ่งแวดล้อม รับผิดชอบเหตุลักลอบทิ้งกากขยะพิษเกลื่อนพื้นที่ EEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(13 ก.ย.)นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เครือข่ายสิ่งแวดล้อม พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขณะนี้ 8 ปีแห่งการพลังทลายของสิ่งแวดล้อมโดยรัฐบาลประยุทธ์ กำลังแผลงฤทธิ์เต็มที่ แต่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกลับเพิกเฉยไม่คิดที่จะแก้ปัญหาอะไรเลย ซึ่งกรณีล่าสุดที่ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศออกมาเปิดเผยเรื่องการลักลอบทิ้งน้ำเสียและกากของเสียอันตรายในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่หัวสำโรง อ.แปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ชุมชนร้องเรียนมาแล้วหลายครั้ง

นายนิติพล กล่าวต่อว่า จากที่มูลนิธิบูรณะนิเวศรวบรวมมา จากทั้งพื้นที่ภาคตะวันออก รวมพื้นที่อื่น ๆ ตั้งแต่ปี 60-64 พบว่า การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตราย มีถึง 280 ครั้ง กระจายอยู่หลายพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ที่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ อยุธยา ปทุมธานี ราชบุรี และพื้นที่ EEC ซึ่งประกอบไปด้วย ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เลยไปถึงปราจีนบุรี เพชรบุรี
โดยปัญหาดังกล่าว นำไปสู่การตรวจสอบของ กรมควบคุมมลพิษ ในวันที่ 5-6 ก.ย. 2565 และพบว่าพื้นที่ปนเปื้อนดังกล่าวกินบริเวณมากถึง 11 ไร่ ซึ่งพื้นที่ด้านข้างและด้านหลังเป็นไร่มันสำปะหลัง แต่รายงายดังกล่าวกลับบอกด้วยว่า "ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้" ทราบเพียงพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เอกชน ถูกเช่าโดยบริษัทรีไซเคิลเจ้าหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบชื่อ และไม่ทราบรายละเอียด

"เหตุลักลอบทิ้งกากของเสียเช่นนี้ เกิดในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก ที่รัฐกำลังเร่งส่งเสริมโครงการอุตสาหกรรมในเขต EEC โดยที่หน่วยงานรัฐทำงานได้เหมือนแค่มาพยักหน้ารับทราบแล้วจากไป เพราะรัฐมนตรีเองไม่มีความขึงขังเอาจริง ทำตัวไม่รู้ไม่เห็นต้นตอปัญหา ไม่ว่ารัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เรื่องนี้กระทบสิ่งแวดล้อมโดยตรง หรือกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องกำกับดูแลโรงงานและผลกระทบโดยรอบ"นายนิติพล กล่าว

นายนิติพล กล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจนเลวร้ายขนาดนี้ได้ก็เพราะกฎหมายและการบังคับใช้หย่อนยาน บทลงโทษก็ต่ำ เช่น ทิ้งกากหากจับได้มีโทษปรับก็แค่ 200,000 บาทซึ่งน้อยมาก อายุความก็แค่ปีเดียว แต่ผลกระทบและการฟื้นฟูต้องใช้ต้นทุนมหาศาล ซึ่งเดิมเรื่องนี้ก็ยังต้องทำให้ดีขึ้น แต่รัฐบาลนี้ยิ่งทำให้แย่ลง ไม่ว่าการทำพื้นที่พิเศษ และการออกคำสั่ง คสช.ที่ 4/59 เพื่อยกเลิกกฎหมายผังเมือง เปิดทางให้โรงงานบางชนิดไม่ต้องทำ EIA ทำให้เกิดโรงงานรีไซเคิลขยะไม่มีคุณภาพจำนวนมาก จนขยะเกลื่อนเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC คาดว่าเหตุการณ์นี้ก็เป็นผลมาจากนโยบาย จึงอยากถามว่ากระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมจะรับผิดชอบผลกระทบที่เกิดกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพราะมันแย่และสร้างความขัดแย้งกับชุมชนไปแทบทุกที่ และจะส่งผลกระทบระยะยาวไปถึงอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น